ในยุคสมัยที่กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ถูกใช้เพื่อควบคุมชีวิตของมนุษย์ในสังคม ผ่านการควบคุม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด จัดระเบียบ และสั่งการ ด้วยหลักคิดเวลาและเครือข่ายวาทกรรมกระทำให้เป็นเหตุผลของความจริงเพียงชุดเดียว จนชีวิตของเรากลายเป็นกระบวนการที่เป็นแบบแผน โดยมีระบบ ระเบียบ กฎหมายและวัฒนธรรมเป็นกลไกสำคัญ
ภายใต้การเติบโตอย่างสุดขีดของระบบทุนนิยม และประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้ก่อให้เกิดระบบศีลธรรมแบบใหม่ ที่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อมั่นว่าดีที่สุด ได้แก่ แนวคิดเรื่อง สิทธิ อิสระ และเสรีภาพส่วนบุคคล ควบคู่ไปกับความต้องการและการบริโภคแบบไม่มีขอบเขต ดังนั้น ประเด็นโต้แย้งเรื่องเท่าไร เมื่อไร และอย่างไร จึงจะเพียงพอ จึงเป็นปัญหาอยู่เสมอ
ในแวดวงวิชาการ การละเมิดสิทธิ อิสรภาพ และเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นในเชิงนโยบายหรือในระดับปัจเจกบุคคล ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้ยิน และดูเหมือนจะไม่มีใครอ้างสิทธิในการปกปักรักษา ได้แก่ อิสรภาพ สิทธิ และเสรีภาพของสังคม ดังนั้น อะไรก็ตามที่เป็นสมบัติ หรือพื้นที่สาธารณะ จึงมักกลายเป็นลูกกำพร้า มือใครยาวสาวได้สาวเอา
ความจริง แนวคิดเรื่อง อิสรภาพ มีมานานแล้ว ในภาษากรีกเรียกว่า Eleutheros หมายความถึง อุดมการณ์ทางสังคม ที่วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีอิสรภาพในชีวิตของตนเอง (Individual Liberty) ชาวเอเธนส์ในอดีต จึงแยกความเป็นอิสระ (Eleutheria) ออกจากความเป็นทาส (Douleia) เนื่องจากเชื่อว่า เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องเคารพอิสรภาพของบุคคล ดังนั้น การปกครองที่ดี จึงต้องเป็นการปกครองที่ไม่ขัดขวาง ทำลาย หรือปิดกั้น อิสรภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นในด้านการพูด การเขียน การคิด และการกระทำ พูดง่ายๆก็คือ มนุษย์ทุกคน ล้วนมีอำนาจในตัวเอง (Hansen, 2010: 3)
อิสรภาพ จึงเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม ชาวเอเธนส์เรียนรู้คุณค่าของอิสรภาพ ผ่านการถูกกดขี่ สงคราม และการต่อสู้กับชาวเปอร์เซีย การสูญเสียชีวิตทรัพย์สินและบ้านเมือง ทำให้ผู้คนเกิดความตระหนักว่าการมีอิสรภาพในการปกครองตนเอง โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การบงการ อำนาจ หรือการกดขี่ของผู้ใด หรือชาติใด เป็นสิ่งสำคัญในการมีชีวิต
การเกิดกฎหมาย และหลักการในการเลือกผู้ปกครอง ที่มุ่งปกปักรักษา และคุ้มครองให้บุคคลมีชีวิต และใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติภายใต้หลักคิดเรื่องอิสรภาพจึงทำให้เอเธนส์ มักถูกยกมากล่าวอ้าง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่มุ่งแสวงหาหลักประกัน เพื่อทำให้บุคคลมีอิสรภาพ
คุณค่าของการมีอิสรภาพ จึงประกอบด้วย หลักคิดที่สำคัญ ได้แก่ หลักคิดเรื่องความเท่าเทียม ที่ถูกขับเคลื่อนผ่านกฎหมาย เพื่อมุ่งรักษาความเท่าเทียม และความเป็นส่วนตัวของบุคคล โดยทั้งรัฐ กลุ่ม หรือบุคคลใดจะละเมิดหรือทำลายอิสรภาพส่วนบุคคลไม่ได้ มนุษย์ทุกคนควรได้รับความปลอดภัย ไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกข่มเหงรังแก เหยียดหยาม ดูถูก หรือใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัว มีพื้นที่ส่วนตัว และสามารถครอบครองสมบัติของตนได้อย่างมีความสุข (Gill 2006, Bell 2007, Wilson 2008)
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องอิสรภาพแตกต่างกันไป ในสำนักอดกลั้น (Stoicism) แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายกฎธรรมชาติ ดังนั้น จึงมีความเชื่อว่าอำนาจของรัฐ ควรอยู่ใต้กฎของธรรมชาติและอำนาจของกฎหมาย และต้องวางอยู่บนพื้นฐานของความดีงามและการควบคุมจิตใจให้สงบ ภายใต้ระบบเหตุผล (Logos) ที่จะนำไปสู่ความรู้ที่แท้จริง (Episteme) (Pesin 2010) ทั้งนี้ ต้องไม่หลงติดอยู่กับความอยาก และความหลงใหลในความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุด อิสรภาพตามนัยนี้ จึงห่างไกลอย่างมากจาก การเอาแต่ใจตนเองและความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุด ความสุข ที่เกิดขึ้นจากการมีอิสรภาพ ของสำนักอดกลั้น จึงหมายถึง ความดีงามของการมีชีวิต ภายใต้กฎแห่งความสมดุล ความพอดี อย่างมีเหตุผล มีสติ ด้วยความเข้มแข็งอดทน ยุติธรรม ซื่อสัตย์ เรียบง่าย กล้าหาญ และมีวินัยในตนเอง
อย่างไรก็ตาม ความสุข ความดี ที่เกิดจากอิสรภาพของสำนักเพลโตและอริสโตเติล แตกต่างออกไป กล่าวคือ อิสรภาพ ต้องอยู่ภายใต้ความสามารถในการควบคุมตนเอง การมีอิสระด้วยเหตุด้วยผล (Rational Freedom) อิสรภาพตามนัยนี้ จึงแยกออกอย่างเด็ดขาดจากการทำงานตามภาระหน้าที่ และอิสรภาพไม่ใช่รูปแบบของการปกครอง แต่หมายถึง การที่บุคคลสามารถทำงาน และพัฒนาตนเองจนกลายเป็นผู้ชำนาญการในงานและหน้าที่ซึ่งตนเองรับผิดชอบ โดยมนุษย์ทุกคนล้วนต้องทำงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม นอกจากนี้ สำนักเพลโตยังเชื่อว่า โลกทางวัตถุและสิ่งที่มีอยู่นอกตัวมนุษย์ เช่น การครอบครองสิ่งของ สถานที่ การมีสุขภาพที่แข็งแรงดีงาม คือ ความสุขและความดีงาม
โดยแนวคิดที่คล้ายคลึงกันของทั้งสองสำนัก ได้แก่ การมีทัศนะว่า ความสุข ความดี ล้วนเป็นเรื่องของเหตุผล ไม่ได้มาอย่างง่ายๆ โดยปราศจากความพยายาม ความทุกข์ยาก แต่ต้องอาศัยความอดทน อดกลั้น ขยันขันแข็ง มานะบากบั่น และความกล้าหาญ (Mcmahon 2004: 10)
ดังนั้น การให้คุณค่าของความสุข ความดี และอิสรภาพ จึงต้องมองด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล และยอมรับในความแตกต่าง เพราะระบบเหตุผล (Rational Order) คือ ระบบศีลธรรม ที่มีหลายชุด และสัญลักษณ์ของเสรีภาพ อิสรภาพ และความดีในระดับบุคคลจึงแตกต่างกัน แต่หากยกระดับของความสุข ความดี และอิสรภาพให้สูงขึ้นมาไว้ในระดับของสังคมหรืออย่างน้อยที่สุดในระดับขององค์กร คำถามในประเด็นเรื่องอุดมคติแบบเสรีนิยม ที่ยึดโยงเข้ากับลัทธิวัฒนธรรมนิยมเดี่ยว และทุนนิยม ได้กลายเป็นเพียงจินตนาการ ที่สร้างภาพให้อิสรภาพ เสรีภาพส่วนบุคคลดูงดงาม แต่ปกปิดด้านมืดของบุคคลที่ละเลยความเป็นส่วนรวม หมกมุ่นจดจ่ออยู่กับความปรารถนาและความต้องการของตนเอง ในขณะเดียวกัน ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ก็อาจถูกวิจารณ์ได้ว่า เป็นเพียงแนวคิดที่อาศัยตรรกะเพื่อรองรับ กับสังคมที่เปิดกว้าง (Open Society) โดยอาศัยระบบเหตุผลนิยมแบบวิทยาศาสตร์ ที่ถูกส่งผ่านโดยระบอบทุนนิยมและประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ยังกระตุ้นให้ปัจเจกเอาแต่วิจารณ์กฎระเบียบที่ปิดกั้นหรือทำลายสิทธิเสรีภาพส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็แสดงตัวตน ที่สะท้อนถึงความจดจ่อ และหมกมุ่นในความปรารถนาที่ไร้ขอบเขตของตนเอง
การเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และความต้องการ ณ อาคารใหม่ของเรา ที่ประกอบไปด้วยคณะวิชาถึง 3 คณะฯ จึงท้าทายสำนึกเรื่องความสุข ความดี และ อิสรภาพ ที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล และความยอมรับในความเท่าเทียมของคนทุกๆคน ที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ และมีความสุขตามอัตภาพในประชาคมเล็กๆแห่งนี้
ด้วยความปรารถนาดี
คณบดีคณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร
13 มกราคม 2559