สารจากคณบดี ฉบับที่ 11 : ความรุนแรงในสถาบันการศึกษา

ความรุนแรงในสถาบันการศึกษา

ความรุนแรง จัดเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เนื่องจากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องตกเป็นเหยื่อ และเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความรุนแรงจึงไม่ใช่กิจกรรม หรือปรากฏการณ์ที่แยกตัวออกมาอย่างโดดเดี่ยวจากกิจกรรมหรือปรากฏการณ์ทางสังคมอื่นๆ แต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะที่เชื่อมโยง เป็นกระบวนการ ผ่านมิติเรื่องเวลา โดยมีมูลเหตุปัจจัย คุณลักษณะและองค์ประกอบร่วมบางประการที่นำมาสู่ความรุนแรงประเภทหนึ่งๆ  ดังนั้น การทำความเข้าใจกับมูลเหตุปัจจัย ธรรมชาติ คุณลักษณะของความรุนแรง และบริบททางสังคมที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงนั้นๆ ขึ้น จึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าด้วยเหตุใด ความรุนแรงนั้นๆ จึงเกิดขึ้น และเพราะเหตุใด รูปแบบของความรุนแรงบางประเภท จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่ารูปแบบของความรุนแรงแบบอื่นๆ ในสังคมแบบนั้น

ในอดีต นักสังคมศาสตร์จำนวนไม่น้อยเสนอว่า บุคคลจะให้ความหมาย ตีความปรากฏการณ์ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตามประสบการณ์ และการรับรู้ที่บุคคลได้รับมาจากการขัดเกลาทางสังคม ตลอดจนการเรียนรู้จากวัฒนธรรมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้น องค์ประกอบสำคัญของความรุนแรง จึงมีรากฐานมาจากขั้นตอนและกระบวนการที่บุคคล ประมวลสิ่งที่ตนเองได้พบเห็น และแสดงพฤติกรรมซึ่งเป็นความรุนแรง ดังนั้น นักสังคมศาสตร์จำนวนไม่น้อยในอดีต จึงมักมีฐานคติว่า ครอบครัวคือสถาบันหลักที่ปลูกฝังความรุนแรงในสังคม

ในปัจจุบัน งานวิจัยและนักสังคมศาสตร์จำนวนมากเสนอว่า บุคคลและสังคมอาจเรียนรู้เรื่อง ความรุนแรง จากหลากหลายแหล่ง ดังนั้น การจัดการกับความรุนแรงที่ตนเองต้องเผชิญจึงแตกต่างกันไป ความรุนแรงทางตรง มักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องตกเป็นเหยื่อ บุคคลมักเลือกใช้กลไกการปกป้องตนเอง (Defense Mechanism) ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความรุนแรงทางอ้อม เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยากในการป้องกันแก้ไข เนื่องจากเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้และการตีความสัญลักษณ์วัฒนธรรม (Symbolic Culture) ที่แอบแฝงอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันมายาวนาน อาทิ เด็กนักเรียน เรียนรู้เรื่องความรุนแรงในโรงเรียนผ่านคำพูดหยาบคาย การตำหนิ การด่าทอ การนินทาและการไม่ให้เกียรติของครู ประชาชน เรียนรู้ความรุนแรงในสังคม ผ่านรัฐบาลที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน และการต้องใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในสังคมที่เสียระเบียบเป็นระยะเวลายาวนาน

virginia+tech+34เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนน่าตกใจ มีทั้งความรุนแรงในระดับโรงเรียนไปจนถึงในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยกระแสความรุนแรง ได้แผ่ขยายปริมณฑลออกไปอย่างกว้างขวางพ้นพรมแดน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา โดยพบว่า เกิดความรุนแรงในสถาบันการศึกษาทั่วโลกมากมาย อาทิ กรณีการกราดยิงใน Erfurt, Germany (2002) ที่มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 7 ราย, Beslan School, North Ossetia (2004) เสียชีวิต 386 ราย บาดเจ็บมากกว่า 700 ราย, กรณี Red Lake High School (2005) เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 12 ราย, กรณีการกราดยิงที่ Virginia Tech (2007) เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก และล่าสุดกรณีการกราดยิงใน UCLA, Minnesota U.S.A (2016) หรือในกรณีของการกราดยิงคณาจารย์ในห้องสอบวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งของไทยในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา (Cohen & Canela-Cacho, 1994)

 

Warr (1994) ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่น่าจะมีมูลเหตุปัจจัยหลักมาจากครอบครัวอีกต่อไป แต่น่าจะเกิดจากคุณลักษณะของความรุนแรงที่ถูกสะสมอยู่ในสังคม จนกลายเป็นสังคมแห่งความรุนแรง19 โดยความรุนแรงเหล่านี้อาจแอบแฝงอยู่ในรูปแบบของสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่ผู้คนซึบซับเอาไว้โดยไม่รู้ตัว ผ่านนโยบายที่แอบแฝงความรุนแรง อาทิ สงครามยาเสพติด การล่วงละเมิดสิทธิของเด็กนักเรียน อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดกับเด็กๆ เนื่องจากไม่มีการจัดการที่ดี การข่มขืนฆ่าเด็กๆ การรับน้องที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความรุนแรงในหอพักจนเป็นเหตุในเกิดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ หรือโรงเรียนที่ไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แม้กระทั่งประสบการณ์ของสังคม ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมผ่านนโยบายการเลือกปฏิบัติ การบังคับให้สูญหาย การข่มขู่ การทารุณกักขัง ตลอดจนความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง จนคนในสังคมต่างคุ้นเคยกับความรุนแรง จนกลายเป็นเรื่องปกติ (Violence-free-society)

ในฐานะที่ดิฉันเป็นนักสังคมศาสตร์ ดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่านิสิตใหม่ทุกคน ที่กำลังจะเข้ามาศึกษาในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปีการศึกษาใหม่นี้ จะได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ และเท่าเทียม จากนิสิตรุ่นพี่ เมื่อเข้าเรียนในหลักสูตรต่างๆ ก็จะได้รับโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากครูอาจารย์ และเมื่อต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของคณะสังคมศาสตร์ ก็จะได้รับบริการที่เป็นมิตร รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยที่สุด ในบ้านหลังเล็กนี้ ควรที่จะเป็นสังคมซึ่งห่างไกลจากความรุนแรงทุกประเภท ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และดิฉันหวังเป็นที่สุดว่าในรอบรั้วของสถาบันการศึกษาที่มีเกียรตินี้ จะเป็นที่บ่มเพาะความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และความสุขสงบ ที่ปราศจากความรุนแรงแอบแฝงอยู่ ซึ่งหาได้ยากยิ่งจากสังคมภายนอก

ด้วยความปรารถนาดี

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร

คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

6 มิถุนายน 2559

English edition