หลายเดือนที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางและพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา หลายจำพวก ได้พบกับผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมีลูกจ้างหลายหมื่นคน ผู้นำสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของอาเซียน ผู้นำและอดีตผู้นำทางการเมืองหลายคน และบางคนก็อายุไม่มากเลย ขณะที่ได้มีโอกาสพูดคุย ก็พยายามสังเกต เรียนรู้ และค้นหาคำตอบว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จหรือความล้มเหลวของบุคคลเหล่านั้น ผู้นำหลายคนที่ได้พูดคุยด้วย ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ในขณะที่ผู้นำบางคนก็นำความหดหู่ใจมาให้ในขณะพูดคุย และเนื่องจากช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ดิฉันจึงขอนำเรื่องของผู้นำและภาวะผู้นำมาพูดคุยกันในสาส์นจากคณบดีฉบับนี้
ภาวะผู้นำ (Leadership) ที่เรานำมาพูดและใช้กันบ่อยๆ เป็นกระบวนการทางอิทธิพล (Influence) ที่บุคคลนำมาใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มหรือองค์กร เพื่อให้สามารถนำพากลุ่มหรือองค์กรนั้นๆ ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่วางไว้ อิทธิพล ตามนัยนี้ จึงไม่ใช่การใช้อำนาจบังคับ ไม่ใช่การก้าวร้าวกดดันเพื่อให้ยอมจำนน และไม่ใช่การสร้างความลรำคาญจนยอมคล้อยตาม แต่มีลักษณะเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน (Reciprocal) ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม บนพื้นฐานของความเห็นชอบร่วมกัน ตามหลักเหตุและผล ที่ผ่านการคิดและวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และพันธกิจของกลุ่มและองค์กรนั้นๆ ภาวะผู้นำจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการร่วมใจร่วมแรงกันของผู้นำและผู้ตามในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในกลุ่มหรือองค์กรที่ตนสังกัดอยู่ ไม่ใช่การพยายามรักษาสภาพเดิมๆ (Status Quo) เพื่อความสุขสบายส่วนตัวหรือการรักษาไว้ซึ่งอำนาจของผู้นำ และไม่ใช่การใช้ทรัพยากรขององค์กรเพื่อสร้างความนิยมชมชอบในตัวของผู้นำ
ภาวะผู้นำ จึงประกอบด้วย ผู้นำ (leader) ที่มีความเป็นผู้นำ กล่าวคือ เป็นผู้ที่สร้างความไว้วางใจ มีความเที่ยงธรรม และมีความสามารถกระตุ้นให้บุคคลอื่นคล้อยตามได้ ผู้ตาม (followers) ที่ยอมรับในกระบวนการทางอิทธิพล และเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันนำพากลุ่มหรือองค์กรของตนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยใช้การสื่อสาร (communication) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ภายใต้สถานการณ์ (situation) ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อพากลุ่มและองค์กรมุ่งสู่เป้าหมายให้ได้
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ดิฉันพบเห็นในตัวผู้นำที่ดี คือ ทุกคนล้วนมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ สุภาพ อ่อนน้อม มีจริยธรรมในการทำงาน (Strong work ethic) ในขณะเดียวกันก็มีเหตุผลที่ชัดเจน มีแรงจูงใจด้านอำนาจ (The power motive) และมีแรงกระตุ้นอย่างรุนแรงที่จะสร้างความสำเร็จให้แก่กลุ่มและองค์กร (Drive and achievement motive) ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนล้วนมีความสุขกับชีวิตและงานที่ทำอยู่
รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
14 สิงหาคม 2559