ใต้ร่มราชพฤกษ์:
ประวัติความเป็นมา
Play Video
          ประวัติของหลักสูตรจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งหากบุคคลไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ การศึกษาในศาสตร์ทางจิตวิทยาจึงมีความสำคัญและเพื่อตอบสนองความต้องการของ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือตอนล่างอันเป็นเขตพื้นที่ในความรับผิดชอบการ จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย รศ.พูนพงษ์ งามเกษม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในขณะนั้นได้มอบนโยบายให้ภาควิชาสังคมศาสตร์เป็นผู้ริเริ่มจัดทำหลักสูตร โดยแต่งตั้งกรรมการจัดทำหลักสูตร วท.บ. (จิตวิทยาธุรกิจ) ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2539 โดยได้ขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยในสมัย ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน เป็นอธิการบดีให้บรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) และมีกำหนดเปิดรับนิสิตสาขาจิตวิทยาธุรกิจรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2540 
          แต่เนื่องจากคณะกรรมการวิพากษ์หลักสูตรได้เสนอแนะว่าการเปิดหลักสูตรนี้จะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสออกไปประกอบอาชีพได้น้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ชื่อหลักสูตรและชื่อหลักสูตรไม่เป็นสากล ดังนั้นคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรจึงได้ปรับหลักสูตรอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ทำการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรมาเป็น วท.บ. (จิตวิทยา) และคณะกรรมการวิพากษ์หลักสูตรได้เสนอแนะให้ปรับอีกครั้งเป็น ศศ.บ. (จิตวิทยา) โดยให้เห็นผลว่ารายวิชาต่างๆ ในหลักสูตรนั้นเกี่ยวข้องกับวิชาทางพฤติกรรมศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ในที่สุดหลักสูตร ศศ.บ. (จิตวิทยา) ได้ผ่านการเห็นชอบหลักสูตรเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 และพร้อมกับเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2543 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ทิพยวรรณ กิตติพร เป็นหัวหน้าสาขาวิชาคนแรก
          ต่อมาทางคณะเห็นว่าโครงสร้างของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีขนาดใหญ่เกินไป ไม่ว่าจะมองในมิติใด ทำให้การบริหารเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดความคล่องตัว จึงเห็นสมควรให้จัดโครงสร้างคณะใหม่เพื่อให้มีขนาดกะทัดรัดและมีความคล่องตัวสูง โดยจัดสาขาวิชาซึ่งมีธรรมชาติ ที่คล้ายคลึงกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คณะสังคมศาสตร์จึงได้รับการจัดตั้งเป็นคณะใหม่อีกครั้ง และได้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 ( 1 ตุลาคม 2546 ) เป็นต้นมา ดังนั้นสาขาจิตวิทยาจึงย้ายมาสังกัดในส่วนของคณะสังคมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมการบริหารหลักสูตรจิตวิทยาได้เปลี่ยนแปลงชื่อหลักสูตรอีกครั้ง จากเดิมศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา เป็น วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา โดยได้มีการปรับเพิ่มเติมรายวิชาทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อการเทียบโอนได้กับหลักสูตรจิตวิทยาระดับนานาชาติ และขยายโอกาสในการทำงานของบัณฑิต
          ปัจจุบันหลักสูตรจิตวิทยาสังกัดอยู่ในภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ดำเนินการสอนในหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา โดยแบ่งเป็นกลุ่มวิชาเลือกเฉพาะด้านออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ จิตวิทยาการให้คำปรึกษา จิตวิทยาอุตสาหกรรม และ จิตวิทยาคลินิก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร์ เงินแย้ม เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ เพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและพันธกิจ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะสังคมศาสตร์ ทางด้านมาตรฐานของหลักสูตร ภาควิชาฯ ได้รับการรับรองหลักสูตรจาก สกอ. รวมถึงได้ผ่านการรับรองสถานบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในสาขาจิตวิทยาคลินิกระดับปริญญา จากคณะกรรมการวิชาชีพ สาขาจิตวิทยาคลินิก ในปี พ.ศ.2555
สัญลักษณ์
ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ

ปรัชญา

  • สร้างบัณฑิตให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้คู่คุณธรรม นำองค์ความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้เพื่อพัฒนา ตนเองและเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างเป็นระเบียบแบบแผนภายใต้ กรอบของจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพของนักจิตวิทยา

ปณิธาน

  • มุ่งมั่นสร้างคน สร้างสังคมอุดมปัญญาถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม และก้าวไกลสู่สังคมโลก

วิสัยทัศน์

  • สร้างคนให้มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ทักษะวิชาชีพในระดับสากล มีความเป็นเลิศด้านการวิจัย และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม

พันธกิจ

ดำเนินการตามภารกิจ 4 ด้าน คือ

  1. การผลิตบัณฑิต
  2. การวิจัย
  3. การบริการวิชาการ
  4. การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
วัตถุประสงค์

เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา ในการอธิบาย ทำนาย ควบคุม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักวิทยาศาสตร์
  2. สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางจิตวิทยา กับความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปฏิบัติการทดสอบและประเมินทางจิตวิทยาเพื่อ แก้ไขปัญหา โดยใช้การทำจิตบำบัด การปรึกษา หรือการพัฒนาองค์การ
  3. สามารถวางแผนและปฏิบัติการวิจัยได้อย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ ตามระเบียบวิธีวิจัยและ จรรยาบรรณวิชาชีพจิตวิทยา
  4. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ และดำรงชีวิตอย่างมีจิตสำนึก โดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพจิตวิทยา
  5. มีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ บุคลากร