ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาครั้งที่ 22 ในหัวข้อ “Coexisting with (Un)certainty สะท้อนย้อนคิดถึงความไม่/แน่นอน” ซึ่งเป็นเวทีสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอ ความรู้ผ่านกระบวนการตั้งคำถาม คิดโจทย์วิจัย และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนทบทวนและสร้างข้อเสนอเชิงวิพากษ์ ให้เกิดการสะท้อนย้อนคิดกับกรอบแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาที่ใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งการจัดงานประชุมวิชาการเครือข่ายนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ โดยในการประชุมวิชาการครั้งนี้ได้เปิดเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการในหัวข้อดังกล่าวพร้อมด้วยธีมย่อยที่สัมพันธ์หรือปะทะประสานกันในการทำความเข้าใจความไม่แน่นอนในหลายมิติ และในหลากระดับของการอธิบายกรอบแนวคิด ตลอดจนการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
– การระบาดใหญ่ (pandemic)/ การทำลายล้าง (decimation)/ ความเปราะบาง ( vulnerabilities)
– ภัยพิบัติ (disaster)/ ความเสี่ยง (risk)/ ความยืดหยุ่น (resilience)/ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate changes)
– ความไม่มั่นคง (insecurity)/ ความไม่เท่าเทียม (inequality)/ ความขาดแคลนทรัพยการ (resource shortage)
– การเร่งรัดทางสังคม (social acceleration)/ ความเร่ง (rapidity)/ เศรษฐกิจไฮเปอร์ (hyper-economy)
– สงคราม (war)/ ความขัดแย้ง (conflict)/ ความตึงเครียด (tension)/ ความรุนแรง (violence)
– ชายแดน (border)/ การอพยพย้ายถิ่น (migration)/ การเคลื่อนย้าย (mobility)
– การเฝ้าระวัง (surveillance)/ การควบคุม (control)/ ความมั่นคง (security)
– ความพลิกผัน (disruption)/ ทางแยก (juncture)/ ทางสองแพร่ง (dilemma) ในยุคดิจิทัล
– เรื่องเล่า (narrative)/ ความทรงจำ (memory)/ ความไม่คงทนถาวร (impermanence)/ ความไม่ต่อเนื่องในทางประวัติศาสตร์ (discontinuity in history)
– การเมืองของความหวัง (politics of hope)/ ความปรารถนา (desire)/ การดูแล (care)
– ความวิตกกังวล (anxiety)/ การสิ้นหวัง/ซึมเศร้า (depression)/ ความกลัว (fear)/ ความชอกช้ำทางใจ (trauma)
– ความศักดิ์สิทธิ์ (sacrality)/ จิตวิญญาณ (spirituality)/ ความตาย (death)/
– การปะทะกันของคนระหว่างรุ่น (generation crash)/ สังคมสูงวัย (aging society)/ รูปแบบครอบครัวร่วมสมัย (contemporary family patterns)
– อำนาจละมุน (soft power)/การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)/ การต่อรอง (negotiation)
นอกจากการนำเสนอบทความของนิสิตนักศึกษากว่า 60 บทความจาก 18 พาเนลแล้ว งานสัมมนาฯ ยังมีการแสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “Ethnicising Infrastructure: Roads, Railways and Differential Mobility in Northwest China” โดย ศาสตราจารย์ ดร.อักเนียซกา โยนิแอค-ลือธี (Agnieszka Joniak-Lüthi) จากมหาวิทยาลัยฟริบูร์ก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และหัวข้อ “Is There a Compass in the Face of Systematic Uncertainties? Interface of Individual, Local, and Global Scales” โดย ดร.กาเบรียล ฟากาล (Dr. Gabriel Facal) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย ประจำประเทศไทย รวมถึงเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ความไม่แน่นอนในสุนทรียศาสตร์: ความไม่เท่าเทียมและชีวิต” และหัวข้อ “ความไม่แน่นอนในด้านเพศสภาพ: ความไม่มั่นคงและแรงงาน” และการประกวดผลงานนิสิต/นักศึกษาในรูปแบบโปสเตอร์ ตลอดจนการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารปราบไตรจักร 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
ภาพกิจกรรมวันที่ 15 มิถุนายน 2566