แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบห้าทศวรรษที่ผ่านมา จะสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “Growth is good for poverty reduction” ดังพบว่า ประเทศไทยมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 5-6 ต่อปี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่สามทศวรรษที่ผ่านมา การกระจายรายได้ มีแนวโน้มทวีความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนชนบท ผลงานวิจัยหลายชิ้นตัวอย่างเช่น งานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (กอบศักดิ์ ภู่ตระกูล 2556) Moreli, Smeeding and Thomson (2015) และ Alvaredo and Gasparini (2015) ล้วนแสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา รายได้และทรัพย์สินของคนไทยกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในกลุ่มคนที่รวยที่สุด ร้อยละ 1 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ความเหลื่อมล้ำที่กล่าวถึงในที่นี้ ครอบคลุมความเหลื่อมล้ำ 3 ด้านหลักๆ คือ
1) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่สัมพันธ์กับนโยบายการพัฒนาของรัฐ ที่ทำให้โครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนภาคตะวันออก
2) ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างและเงินเดือน เนื่องจากมีการนำระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและแรงงานที่มีสมองเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอุปสงค์ต่อแรงงานระดับมันสมองที่มีฝีมือเพิ่มขึ้น โดยเน้นผู้ที่ผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ทัศนคติเรื่องนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าจ้างระดับ Premium แตกต่างจากแรงงานทั่วไป ซึ่งอาจหาจ้างได้จากแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกัน ปัญหาการลดบทบาทลงของสหภาพแรงงานทำให้แรงงานชาวไทยไม่สามารถต่อรองหรือเรียกร้องขอความเป็นธรรมได้
3) ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ทั้งในรายจังหวัดและการคลังท้องถิ่น เนื่องจากการกระจุกตัวของรายได้ภาษีในภาคตะวันออก กรุงเทพ และปริมณฑล และบางเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว โดยพบว่าที่ผ่านมาภาครัฐมีการจัดสรรเงินอุดหนุนต่อหัวที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบระหว่างเทศบาลที่เป็นชุมชนเมือง จะสูงกว่าองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นพื้นที่ชนบท
การศึกษาของดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ (2559) ก็พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนว่า เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยใช้ทฤษฎี Human Capital และของ Mauro Baranzini (1991) ที่ให้ความสำคัญกับตัวแปรเรื่องระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ขนาดของสถานประกอบการและสภาพความเป็นเมือง/ชนบท และรูปแบบวงจรชีวิตขยาย (Extended Life Cycle Model) ที่ให้ความสำคัญกับตัวแปรเรื่อง ความรักความหวังดีต่อลูกหลาน และวัฒนธรรมการถ่ายโอนมรดก อาทิ บ้าน ที่ดิน เงินฝาก หุ้นและตราสารทางการเงินของพ่อแม่ไทย ก็พบว่า แม้ว่าเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน จะมีโอกาสเข้าเรียนมากกว่าในอดีต แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำของงบประมาณสนับสนุนสถานการศึกษาขนาดใหญ่และเล็ก ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และความด้อยโอกาสของเด็กนักเรียนในครัวเรือนที่ยากจน ทำให้โอกาสของเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กยากจนในโรงเรียนขนาดกลางและเล็กในชนบท ในการได้เข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีน้อยมาก และโอกาสดังกล่าวถูกผูกไว้กับเงินสนับสนุน ที่นิสิตนักศึกษาเกือบทั้งหมดต้องกู้ยืมจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
กยศ. จึงเป็น “แต้มต่อ” ที่สังคมและรัฐจะพึงมอบให้แก่เด็กยากจน เพื่อให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจนจบปริญญาตรี เพื่อเป็นแรงงานที่มีสมอง และสามารถเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์ใหม่ในอนาคตได้ แม้ว่าเงินทุนจาก กยศ. ที่นิสิตได้รับจะไม่มาก แต่สำหรับนิสิตที่พ่อแม่ยากจนไม่สามารถถ่ายโอนทรัพย์สินหรือไม่มีมรดกใดๆ ที่จะถ่ายโอนให้กับลูกๆ ได้ และมีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี เงินเล็กน้อยที่กู้ยืมมาได้ จึงมีความสำคัญและถูกใช้เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพประจำเดือน
หากปัญหาของ กยศ.คือการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากปัญหาการไม่ชำระคืน ก็ต้องพัฒนาระบบ อาทิ การปรับปรุงระบบการติดตามและชำระหนี้คืนกองทุนฯ ในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด เนื่องจากพบว่า การไม่สามารถชำระเงินคืนได้ มีความสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานของบัณฑิต จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2559 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน 55.50 ล้านคน มีผู้มีงานทำเพียง 37.61 ล้านคน คิดเป็นผู้ว่างงานถึง 3.97 แสนคน หรือร้อยละ 1 และผู้รอฤดูกาลอีกถึง 3.45 แสนคน และหากพิจารณาจากประสบการณ์การทำงานพบว่า 1.72 แสนคนเป็นผู้ที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อน โดยผู้ที่เคยมีงานทำ 2.25 แสนคน ทำงานในภาคบริการและการค้ามากที่สุดจำนวน 0.97 คน รองลงมาอยู่ในภาคการผลิต 0.85 แสนคน และอยู่ในภาคเกษตรกรรมน้อยที่สุดคือ 0.43 แสนคน สถิติการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2558 คือร้อยละ 0.7, 0.8, และ 0.9 ตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณาสถานการณ์การเลิกจ้างงาน ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา คือ จากจำนวน 67,029 คนในปี พ.ศ. 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 84,273 คนในปี พ.ศ. 2558 ล้วนสะท้อนความล้มเหลวเชิงนโยบาย ที่ส่งผลกระทบถึงการคืนเงินกู้ยืม และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นวงจรแห่งความชั่วร้ายแบบงูกินหาง
ดิฉันต้องการชี้ให้เห็นว่า รากฐานที่สำคัญของความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในสังคมไทย เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกและนับวันยิ่งจะขยายวงกว้างครอบคลุมผู้คนจำนวนมากขึ้น ความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ นโยบายการพัฒนายุคเก่าและผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่ได้เกื้อหนุนให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการที่มีมันสมองและมีฝีมือ ทั้งยังปิดโอกาสในการทำงานและใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่เพื่อก้าวเข้าสู่ภาคการผลิต
ในฐานะผู้บริหารคณะ ดิฉันขอให้กำลังใจพ่อแม่ผู้ปกครอง และนิสิตทุกคนของคณะสังคมศาสตร์ ให้ก้าวผ่านวิกฤตทางสังคมและเศรษฐกิจนี้ไปให้ได้ และต้องการเน้นย้ำว่าการคงอยู่ของ กยศ. มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน ในการเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศนี้
ด้วยความปรารถนาดี
รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
6 กรกฎาคม 2559
เอกสารอ้างอิง
กอบศักดิ์ ภู่ตระกูล. 2556. คุณภาพของการเจริญเติบโตจากมิติของการกระจายรายได้ บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา.
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์. 2559. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทย. กรุงเทพ: สำนักงานวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์.
ชาติสำนักงานสถิติแห่ง. 2559. สถานการณ์การว่างงาน การเลิกจ้างและความต้องการแรงงาน. กรุงเทพ: เอกสารอัดสำเนา.
Alvaredo, Facundo and Gasparini, Leonardo. 2015. “Recent Trends in Inequality and Poverty in Developing Countries”, in Handbook of Income Distribution, Vol.2A, Anthony B. Atkinson and Francois Bourguignon, eds., Amsterdam: North-Holland.
Baranzini, Mauro. 1991. A Theory of Wealth Distribution and Accumulation. Oxford: Clarendon Press.