ใต้ร่มราชพฤกษ์:

ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการบรรยายวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ครั้งที่ 64 (NUPL#64) ในหัวข้อ “สถานการณ์ภาคการเกษตรไทย: ผลผลิตและทางรอด” โดยได้รับเกียรติจากคุณนพดล มั่นศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ฯ คณะสังคมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญ เช่น ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมเงินเพื่อทำการเกษตร การใช้สารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมบ่อยครั้ง การผูกขาดจากนายทุนที่ทำให้เกษตรกรต้องขายผลผลิตในราคาที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาการทำกินบนที่ดินที่เกษตรกรไม่มีสิทธิ์ครอบครอง หรือการเช่าที่ดินของตัวเองเพื่อทำเกตรกรรมเนื่องจากหนี้สินจนทำให้ที่ดินถูกยึดโดยนายทุนหรือจากธนาคาร ซึ่งจะส่งผลในเรื่องความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยการเรียนรู้ถึงปัญหาเหล่านี้จะช่วยให้นิสิตสามารถมองเห็นภาพรวมและเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาภาคการเกษตร และการพัฒนาแนวนโยบายสาธารณะของภาครัฐในอนาคต นิสิตจะได้พัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ นอกจากนี้การนำความรู้และประสบการณ์จากภาคการเกษตรมาใช้ในการพัฒนาแนวนโยบายสาธารณะจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความเป็นไปได้และยั่งยืนมากขึ้น เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน และลดการใช้สารเคมี การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะช่วยลดการใช้สารเคมีและส่งเสริมสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาตนเองได้มากขึ้น โครงการบรรยายวิชาการ NUPL#64 นี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงานด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในอนาคต การเชื่อมโยงองค์ความรู้ในภาคการเกษตรไปสู่การพัฒนาแนวนโยบายสาธารณะจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว ความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ การที่เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการ พัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา ณ ห้องนเรศวร 308 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร