ที่มารูปภาพ : https://info.getadministrate.com/blog/common-strategy-small-companies
“คุณเคยรู้สึกไหมว่าเราเป็นใครกัน เป็นแค่ฝุ่นละอองในจักรวาลอย่างนั้นหรือ? ในขณะที่เรากำลังอยู่บนโลกและยังไม่ได้เริ่มสร้างยานอวกาศ แต่คนอื่นกลับไปถึงดาวอังคารหรือดาวพฤหัสบดีกันแล้ว..”
ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้คนต่างก็ให้คุณค่ากับความสำเร็จและการเป็นที่หนึ่ง ไม้บรรทัดที่สังคมหยิบยื่นมาให้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดว่าใครก็ตามที่ทำไม่ได้ตามมาตรฐานกำหนดจะกลายเป็นความบกพร่องของสังคมนั้น ๆ และถูกทอดทิ้งเอาไว้ข้างหลัง เมื่อความผิดหวังคืบคลานเข้ามาจนเริ่มเอาตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นก็เกิดเป็นความรู้สึกไร้คุณค่า ราวกับขนาดตัวค่อย ๆ หดเล็กลงเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนที่มากไปด้วยความสามารถ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ในทางจิตวิทยาสามารถอธิบายด้วยแนวคิดที่เรียกว่า 4 Life Positions หมายถึง ทัศนคติแห่งชีวิต 4 แบบที่มนุษย์เราใช้มองตนเองและมองผู้อื่น อันมีสาเหตุหลักมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งหล่อหลอมจิตใจของเราให้เกิดเป็นความรู้สึกที่ดีและไม่ดีต่อตนเอง ตัวอย่างเช่น หากคุณอยู่ในสังคมที่มองว่าการทำผิดพลาดเป็นความผิดร้ายแรง คุณก็จะเกิดความรู้สึกด้านลบต่อตนเอง มองว่าตนเองไม่เอาไหนและสมควรถูกลงโทษ แต่หากคุณอยู่ในสังคมที่มองว่าการทำผิดพลาดในบางครั้งถือเป็นบทเรียนของชีวิต คุณก็จะไม่รู้สึกล้มเหลว ไม่มองว่าตนเองบกพร่องหรือด้อยคุณค่ากว่าผู้อื่น โดยแนวคิดดังกล่าวก็จะประกอบไปด้วย
- 1. I’m Not OK, You’re OK (ฉันด้อย แต่คุณดี) ผู้ที่มีมุมมองเช่นนี้จะรู้สึกว่าตนเองตัวเล็กกว่าความเป็นจริง ไม่มีความมั่นใจในตนเอง คิดว่าตนไร้ความสามารถ เป็นคนล้มเหลว ส่วนผู้อื่นตัวใหญ่ยักษ์และเก่งกาจจนไม่สามารถแม้แต่จะแหงนหน้าขึ้นมอง รู้สึกว่าตนด้อยคุณค่าเกินกว่าจะเข้าไปทำความรู้จักหรือเป็นเพื่อนกับคนอื่น ๆ
- 2. I’m Not OK, You’re Not OK (ฉันด้อย คุณก็ด้อย) ผู้ที่มีมุมมองเช่นนี้จะรู้สึกว่าตนเองไร้ศักยภาพ ส่วนผู้อื่นก็ไม่ได้มีดีไปกว่าตนนัก มักจะมองโลกในแง่ลบ ไม่มีความกระตือรือร้น ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่สามารถรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ ในระยะยาวอาจส่งผลให้สุขภาพจิตไม่ดี
- 3. I’m OK, You’re Not OK (ฉันดี แต่คุณด้อย) ผู้ที่มีมุมมองเช่นนี้จะรู้สึกว่าตนเองตัวใหญ่ค้ำฟ้า มักจะแสดงออกในลักษณะของการยกตนข่มท่าน มองว่าคนอื่นด้อยกว่าตนเอง เพราะตนเก่งที่สุด ดีที่สุด ไม่ไว้วางใจให้ผู้อื่นทำงานสำคัญ ขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้อื่น
- 4. I’m OK, You’re OK (ฉันดี คุณก็ดี) เป็นลักษณะของคนที่มีสุขภาพจิตดี ผู้ที่มีมุมมองเช่นนี้มักจะมีความมั่นใจในตนเอง มองว่าตนเองมีศักยภาพมากพอในการทำเรื่องที่ตนถนัด ในขณะเดียวกันก็มองว่าผู้อื่นเก่งพอที่จะทำงานที่พวกเขาถนัดด้วย มีความเข้าใจว่าทุกคนต่างก็มีจุดแข็ง-จุดอ่อนเป็นของตนเอง ยอมรับในความสามารถของผู้อื่น รู้จักให้เกียรติผู้อื่น พร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นเราในรูปแบบที่ดีขึ้นเสมอ
ในเมื่อไม่มีใครบนโลกใบนี้สมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกอย่าง เราทุกคนต่างก็เคยทำผิดพลาด มีบางเรื่องที่ทำไม่ได้ และมีบางสิ่งที่ทำไม่ถนัด วิธีที่ดีที่สุดในการปลดล็อคความรู้สึกดังกล่าวก็คือ การกลับมามองเห็นคุณค่าในตนเอง และเรียนรู้ที่จะชื่นชมยินดีไปกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วย โดยมุมมองแบบ I’m OK, You’re OK ก็จะสัมพันธ์กับการมี Self-Esteem ที่แข็งแรง เพราะในโลกของความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นคนที่ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก เราต่างก็มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับตนเองด้วยกันทั้งสิ้น ลองจินตนาการดูว่าเราทุกคนก็เป็นเหมือนกับชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่มีลักษณะและสีสันแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อนำมาประกอบรวมเข้าด้วยกัน เมื่อทุกคนได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ผลลัพธ์ก็คือจิ๊กซอว์ทุกชิ้นสามารถประสานกันได้อย่างพอดิบพอดี หากขาดชิ้นใดไปภาพรวมผลงานก็จะออกมาไม่สมบูรณ์ เพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เสมอ อย่ารู้สึกกลัวที่จะรู้แตกต่าง แม้ว่าเส้นทางของเราอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนคนอื่น ๆ แต่เส้นทางของเรามันอาจจะโรยด้วยกลีบดอกทานตะวันแทนก็ได้
“ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือการทำสิ่งเล็ก ๆ ด้วยความรักอันใหญ่ยิ่ง”
แหล่งอ้างอิง:
Pobpad. (ม.ป.ป). Self Esteem การเห็นคุณค่าในตัวเองที่สร้างได้. สืบค้น 27 มกราคม 2564,
ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร. (2011). I am OK, You’re OK. สืบค้น 27 มกราคม 2564,
จาก https://prakal.com/2011/08/19/i-am-ok-you%E2%80%99re-ok/
The Potential. (2018). UNIQUE IS BETTER THAN PERFECT : เป็นตัวเองดีที่สุด. สืบค้น 27 มกราคม 2564,
จาก https://thepotential.org/family/unique-is-better-than-perfect/
สันศนีย์ ทองแย้ม. (ม.ป.ป). การสื่อสารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน. สืบค้น 27 มกราคม 2564,
จาก http://osm.ldd.go.th/knowlegePDF/PDF/KN1/
สุธนี ลิกขะไชย. (2555). ผลของการใช้โปรแกรมต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนลอยสายอนุสรณ์ สำนักงานเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร. ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สืบค้น 27 มกราคม 2564,