ใต้ร่มราชพฤกษ์:

ภาพโดย natureaddict จาก Pixabay

นายธนภัทร จันทร์ดี

ผศ.ดร.กันตพัฒน์ อนุศักดิ์เสถียร

เมื่อโรงเรียนกลายเป็นสถานที่ทำให้นักเรียนติดบุหรี่

          ในสมัยนี้ ปัญหาการสูบบุหรี่ยังมีอยู่มาก ซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่มีเยอะมากที่สุดและสามารถขายได้อย่างถูกกฎหมาย สามารถเข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นวัยใดๆก็ตาม ส่งผลให้คนที่เข้าถึงนั้นติดบุหรี่ได้ง่าย โดยเฉพาะวัยที่กำลังเรียนอยู่(วัยเด็ก วัยรุ่น) เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่างๆได้ง่าย เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบลองผิดลองถูก ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก จึงมักเรียกกันว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

         การติดบุหรี่เริ่มจาก? มีงานวิจัยเปิดเผยว่า เนื่องจากบุหรี่เป็นผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติซึ่งอนุญาตให้ใช้โดยไม่ผิดกฎหมาย คนในบ้านได้มีประสบการณ์สูบ ส่งผลมาให้วัยรุ่นได้มีโอกาสสูดดมกลิ่นบุหรี่ตั้งแต่เด็กจนคุ้นชิน หรือคนในบ้านทิ้งก้นบุหรี่จึงทำให้วัยรุ่นลองสูบก้นบุหรี่ที่ทิ้งไว้ บ้านจึงเป็นสถานที่ให้ลองสูบรายบุคคล เมื่อคุ้นกับการสูบแล้วจึงแอบเอาบุหรี่จากบ้านไปชวนเพื่อนๆในหมู่บ้านและในโรงเรียนให้ลองสูบ

          บุหรี่เกิดขึ้นที่โรงเรียน? โรงเรียนเป็นสถานที่เจอกันง่ายและบ่อยที่สุดในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่กำลังเรียนอยู่ ถึงแม้ว่าทุกโรงเรียนจะมีนโยบายไม่ให้นักเรียนสูบบุหรี่ แต่วัยรุ่นก็ยังทำให้ที่โรงเรียนเป็นแหล่งสูบบุหรี่กับเพื่อนๆได้ง่าย อย่างในห้องน้ำ หรือตามจุดต่างๆที่ลับตาคนในโรงเรียน กลุ่มวัยรุ่นที่ติดบุหรี่ก็มีส่วนที่ทำให้วัยรุ่นที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่สามารถติดบุหรี่ได้จากการได้กลิ่นหรือเดินผ่านกลุ่มวันรุ่นที่สูบบุหรี่บ่อยๆ แถมยังมีเหตุผลอีกหลายปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นเริ่มติดบุหรี่จากที่โรงเรียน เช่น ทำตามเพื่อน เพราะเห็นเพื่อนๆบางคนสูบ เพื่อจะเข้าสังคมกับเพื่อนได้

          เมื่อยิ่งสูบหรือยิ่งปล่อยไปเรื่อยๆ จะเป็นอันตรายกับตัววัยรุ่นเองในอนาคตทั้งทางจิตใจ ส่งผลทำให้มีสุขภาพจิตที่แย่ลง มีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี และเป็นอันตรายทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ไม่พอแค่นั้น บุหรี่ยังเป็นสื่อไปสู่ยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆ ได้ทดลองยาเสพติดที่แรงขึ้น เช่น กัญชา สุรา ยาบ้า เฮโรอีน มอร์ฟีน เป็นต้น เราต้องทำอย่างไรเพื่อให้การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นลดน้อยลง ก่อนที่จะนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงอื่นๆต่อไป

          โรงเรียนควรจะจัดการอย่างไร?

  1. จัดสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ในโรงเรียน ไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการสูบบุหรี่ เช่น ที่เขี่ยบุหรี่
  2. นโยบายห้ามสูบบุหรี่ภายในโรงเรียนจะต้องได้รับการสนับสนุนจาก นักเรียน ครู เจ้าหน้าที่และบุคลากรทุกฝ่าย นโยบายต้องชัดเจน และมีการนำไปใช้ออกเป็นกฎระเบียบของโรงเรียนอย่างจริงจัง
  3. สร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนเกี่ยวกับปัญหาการสูบบุหรี่ คือ กิจกรรมที่ให้การศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาการสูบบุหรี่ จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการสูบบุหรี่ในเยาวชนได้อย่างดียิ่ง เช่น กิจกรรมที่ทำให้เยาวชนทราบถึงสภาพปัญหาของการสูบบุหรี่ ผลกระทบต่อสุขภาพจากบุหรี่ แรงจูงใจและแรงผลักดันต่างๆที่มีอิทธิพลทำให้วัยรุ่นสูบบุหรี่ เป็นต้น
  4. ให้พ่อแม่และครอบครัวของนักเรียนมีส่วนร่วมในการป้องกันไม่ให้บุตรหลานสูบบุหรี่ เพราะว่า ครอบครัวก็มีอิทธิพลอย่างมากในการตัดสินใจว่าวัยรุ่นจะเป็นคนที่สูบบุหรี่หรือไม่ สมาชิกในครอบครัวควรจะให้ความร่วมมือกับโรงเรียนด้วยการไม่สูบบุหรี่ ช่วยรณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ในอีกทางหนึ่ง

          ถ้าสามารถลดการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นได้เร็ว ก็จะสามารถลดอัตราการติดบุหรี่ของวัยรุ่นได้มากขึ้น ช่วยให้คนใกล้ชิดปลอดจากควันบุหรี่มากขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคอีกมากมาย รวมถึงลดต้นทุนของการแพทย์ในการรักษาโรคเกี่ยวกับบุหรี่ได้อีกด้วย

อ้างอิง

1.healcarethai.com. (2564). สิ่งเสพติดให้โทษ: https://www.healthcarethai.com/สิ่งเสพติดให้โทษ/

  1. สมจิต แดนสีแกว ศศ.ด. (2558). การควบคุมการสูบบุหรี่ของวัยรุนในโรงเรียนมัธยมแบบมีสวนรวม: http://www.trc.or.th/th/media/attachments/2562/01/29/2561.pdf
  2. ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์, ปวีณา ปั้นกระจ่าง. (2561). รายงานสถิติการบริโภคยาสูบของประเทศไทย พ.ศ. 2561 : https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jnat-ned/article/view/45999/38043
  1. วราภรณ์ หงส์ดิลกกุล. (2554). คู่มือครูในการช่วยนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่: http://www.trc.or.th/th/attachments/article/50/คู่มือครู%20การช่วยนักเรียนให้%20เลิกสูบบุหรี่.pdf