อ้างอิงรูปภาพ : Photo by NordWood Themes on Unsplash
เรื่อง เมื่อวัยรุ่นต้องเผชิญกับเรื่องวุ่นบน #แฮชแท็ก
เคยสังเกตไหม? ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ # หรือที่เรียกกันว่า แฮชแท็ก ปรากฎอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ที่เราใช้งาน โดยเจ้าตัวแฮชแท็กนี้ เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งใน Twitter, Facebook, Line, Instagram, Tiktok หรือ Youtube และเราเคยสงสัยกันไหมว่าจุดเริ่มต้นของกระแสแฮชแท็กนั้นมาจากอะไร มีหน้าที่หรือบทบาทอย่างไร และเจ้าแฮชแท็กนี้ส่งผลกระทบอะไรต่อตัวเราบ้าง
“จุดเริ่มต้น” ของกระแสแฮชแท็กเกิดขึ้นในปี 2007 บนทวิตเตอร์ของคุณ Chris Messina ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีสังคมออนไลน์ ได้ทวีตเสมือนการชักชวนให้มาลองใช้แฮชแท็กในการจัดกลุ่มข้อความ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แฮชแท็กจึงถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติของทวิตเตอร์ และแพร่หลายเพิ่มขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งทวิตเตอร์มีอัตราการใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงอายุ 16-24 ปี จึงเป็นไปได้ว่าในกลุ่มวัยรุ่นจะมีการเข้าถึงเรื่องราวบนแฮชแท็กได้มากกว่าวัยอื่น ๆ
ขอบคุณภาพจาก : VVKUNGX
#แฮชแท็ก นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลหรือประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้คนพูดถึง มีความง่ายต่อการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลที่เราสนใจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบุคคลที่มีความสนใจเดียวกับเราได้มากขึ้น ซึ่งเนื้อหาข้อมูลในแฮชแท็กมีอิทธิพลต่อทัศนคติและการปรับตัวของบุคคลต่อสิ่งแวดล้อมในสังคม ทั้งยังเกิดกระแสทำให้สังคมตื่นตัวและขับเคลื่อนโลกนี้ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แฮชแท็กมากมายก็มีเนื้อหาที่ล่อแหลม ซึ่งเนื้อหาเชิงลบเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้คน ทำให้เกิดภาวะความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ อีกทั้งยังมีอิทธิพลในการชักจูงหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการกระทำของบุคคล ไปสู่สิ่งที่ไม่อาจคาดคิดได้เช่นกัน
ประโยชน์จากการใช้แฮชแท็ก
– ด้านการตลาด สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ค้าขาย อีกทั้งยังง่ายต่อการค้นหาสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
– ด้านการเรียน เช่น ข้อมูลทางด้านการเรียน แนวทางในการศึกษาต่อ การแบ่งปันชีทสรุปความรู้ต่าง ๆ
– ด้านความบันเทิง เช่น ศิลปิน ภาพยนตร์ มีมที่สร้างความตลกขบขัน ทำให้ผ่อนคลายความเครียด
– ด้านข่าวสาร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำให้ผู้คนรับรู้และปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
– ด้านเทคนิคการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ เช่น อาการการกิน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดูแลร่างกายต่าง ๆ
เนื้อหาเชิงลบในแฮชแท็ก
– สื่อภาพหรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง ภาพการทำร้ายตนเอง คลิปอนาจาร การทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง
– การพนันหรือสิ่งเสพติด การค้าขายยาลดน้ำหนัก รวมถึงอาวุธที่ผิดกฎหมาย
– การแสดงความคิดเห็นที่สุ่มเสี่ยง เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง
– การกลั่นแกล้งกันบนพื้นที่ไซเบอร์ โพสต์ด่าทอผู้อื่นโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ไม่เหมาะสม
ข้อเสนอแนะการรู้เท่าทันสื่อบนแฮชแท็ก
– การเปิดรับสื่อ โดยเราต้องแยกแยะความคิดและอารมณ์ของตนเอง มองให้ออกว่าอะไรเป็นสิ่งที่สื่อสร้างขึ้น
– การวิเคราะห์สื่อ มีการตรวจสอบ มองให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ในการนำเสนอเนื้อหาเหล่านั้น คืออะไร
– การเข้าใจ ตีความและทำความเข้าใจในเนื้อหาที่บุคคลในสังคมนำเสนอ ใช้การคิดอย่างมีเหตุผล
– การประเมินค่า เมื่อเลือกรับรู้ข้อมูลเนื้อหาแล้ว เราควรดูว่าเนื้อหา เทคนิคหรือวิธีนั้นนั้นมีคุณภาพอย่างไร
– การใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ โดยการเลือกรับสื่อ และนำสิ่งที่เราได้จากการวิเคราะห์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าแฮชแท็กที่แพร่หลายอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ “บุคคลในสังคมนั้นล้วนเป็นทั้งผู้สร้างและผู้เสพ” จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่เราอาจตกเป็นเหยื่อของความสนใจด้วยกันเอง ดังนั้น ในการเสพสื่อต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมหรือยู่บนแฮชแท็ก จึงต้องมีวิจารณญาณในการรับสื่อและระมัดระวังอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นหรือถ่ายทอดข้อมูล หากเราสามารถคิดวิเคราะห์ เข้าใจสื่อได้เป็นอย่างดีแล้ว เราอาจเป็นผู้นำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดสื่อดี ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคม โดยการวางแผนการจัดการเนื้อหาให้มีความเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมาต่อตัวเราและผู้อื่น ไม่ว่าจะจากทางด้านร่างกาย อารมณ์ หรือจิตใจ
แหล่งที่มา :
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย. (2016). แฮชแท็ก #HASHTAG นี้มีความหมาย ปรับใช้ให้เหมาะสมในโลกธุรกิจออนไลน์. Digital Maketing, Social Media. สืบค้น 26 มกราคม 2564, จาก https://digitalmarketingwow.com/2016/12/27/hashtag-
สันติชัย อาภรณ์ศรี. (2019). แฮชแท็กติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ตัวจุดประเด็นล่อแหลมในสังคมไทยบนพื้นที่ของคนรุ่นใหม่. สืบค้น 26 มกราคม 2564, จาก https://themomentum.co/trending-hashtags-on-thai-sensitivity/
Mr.362degree. (2019). “ทวิตเตอร์” แพลตฟอร์มทรงอิทธิพล จุดเริ่มต้นบทสนทนา กระแสสังคม บนสื่อออนไลน์. 362 degree. สืบค้น 26 มกราคม 2564, จาก http://www.362degree.com/2019/03/12
Patcharee Bonkahm. (2560). 5 องค์ประกอบของการรู้เท่าทันสื่อ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. สืบค้น 26 มกราคม 2564, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/39558-5%20%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD.html
Thaimove. (2019). สังคมออนไลน์อาจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของวัยรุ่น. สืบค้น 21 มกราคม 2564, จาก https://www.thaimoveinstitute.com/1459/
VVKUNGX. (2013). มารู้จักกับ # (Hashtag) บนโลก Social Network กันดีกว่า. สืบค้น 26 มกราคม 2564, จาก https://faceblog.in.th/2013/07/hashtag-on-social-network/
Workpoint News. (2563). “แฮชแท็ก” อาวุธทรงพลังในการพลิกโฉมการเมืองสังคมโลก. workpoint today. สืบค้น 26 มกราคม 2564, จาก https://workpointtoday.com/hashtag/