ขอบคุณภาพจาก : https://www.todaysparent.com/family/special-needs/how-developmental-trauma-disorder-affects-kids/
ทำอย่างไร…เมื่อความเจ็บปวดในวัยเด็กย้อนกลับมาทำร้าย
หากให้ทุกคนลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของตัวเอง อาจมีบางคนเผลอหลุดยิ้มเพราะพบว่าเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความสุขที่ไม่ว่าจะนึกถึงกี่ครั้งก็มักจะเรียกรอยยิ้มได้เสมอ แต่ก็คงมีบางคนที่รู้สึกเจ็บปวดและเครียดทุกครั้ง เมื่อมองย้อนกลับไปเห็นเหตุการณ์เลวร้ายในช่วงวัยเด็กที่ตัวเองเองเคยพบเจอ ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้วประสบการณ์ที่เคยเผชิญในวัยเด็กและกลายเป็นแหล่งความเครียดแบบนี้ ถูกเรียกว่า “ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก หรือ adverse childhood experiences”
ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก ประกอบด้วยการล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ การละเลย และความผิดปกติในครอบครัว เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด เป็นต้น โดยประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กส่งผลด้านลบต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า การใช้สารเสพติด ตลอดจนมีการพยายามฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะไม่สามารถลบความทรงจำอันเลวร้ายของตัวเอง แต่เราก็สามารถรับมือกับความเจ็บปวดเหล่านั้นได้ตามวิธีดังต่อไปนี้
- การเขียน
เมื่อคุณรู้สึกเครียด กังวล หรือไม่สบายใจ ให้ระบายความรู้สึกและความคิดเหล่านั้นออกมาด้วยการเขียนลงบนกระดาษ การเขียนจะช่วยให้คุณได้เผชิญหน้ากับปัญหาและความคิดรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ช่วยให้ความรู้สึกและความคิดต่างๆออกมาเป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงช่วยให้คุณเกิดการใคร่ครวญ ความเข้าใจ ตระหนักถึงมุมมองที่กว้างกว่าเดิม และสามารถปล่อยวางการยึดติดอดีตของตัวเองลงได้
- การทำสมาธิ
เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการนั่งในท่าทางที่สบาย ท่าทางที่ทำให้ตื่นตัวและไม่หลับง่าย วางมือไว้บนเข่าหรือตักแบบสบายๆ หลับตา ปล่อยผ่อนคลายและหายใจเข้าลึกๆ ปล่อยวางทุกอย่างไปกับลมหายใจออก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและความตึงเครียดทางกาย ซึ่งการฝึกสมาธิจะช่วยทำให้ความหนาแน่นและความเข้มข้นของเนื้อสมองสีเทาเพิ่มขึ้น ทำให้การตอบสนองต่อความเครียดของคุณลดลง
- การแผ่เมตตา
การแผ่เมตตาอาจเริ่มต้นด้วยการนั่งเงียบๆ กำหนดลมหายใจ เมื่อคุณตั้งมั่นด้วยความสงบ ให้นึกภาพตัวเองและพูดในใจว่า “ขอให้ปราศจากความทุกข์ทางจิตใจและปราศจากความทุกข์ทางกาย” จากนั้นให้นึกถึงคนที่คุณรักและค่อย ๆ ไล่ไปจนถึงคนที่ทำให้คุณเจ็บปวด ทั้งนี้ในช่วงเริ่มฝึกใหม่ ๆ ไม่ควรเลือกคิดถึงคนที่ทำให้คุณเจ็บปวดมากที่สุด แต่ให้คิดถึงคนที่ทำร้ายจิตใจเพียงเล็กน้อยก่อน โดยเป้าหมายของการแผ่เมตตา คือ การฝึกความเข้าใจและการเอาใจใส่ต่อตัวเอง เพื่อให้คุณรับรู้ว่าอารมณ์และความคิดเชิงลบกำลังทำร้ายคุณ ซึ่งการแผ่เมตตาบ่อย ๆ จะช่วยให้คุณปล่อยวางความเกลียดชังที่มีต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้คุณอยู่กับปัจจุบันและไม่หลงวนเวียนอยู่กับเรื่องราวในอดีต
- การให้อภัย
เริ่มต้นด้วยการนั่งให้สบายและหลับตาลง นึกภาพคนที่คุณทำร้ายคุณ ทั้งนี้ในช่วงเริ่มฝึกใหม่ๆไม่ควรเลือกคิดถึงคนที่ทำให้คุณเจ็บปวดมากที่สุด แต่ให้คิดถึงคนที่ทำร้ายจิตใจเพียงเล็กน้อยก่อน จินตนาการว่าเรามานั่งตรงหน้าคุณ หลังจากนั้นให้คุณมองไปที่เขาและกล่าวให้อภัยกับสิ่งที่เขาเคยทำกับคุณ ผ่อนลมหายใจเข้าออก และอยู่กับคนๆนี้ต่อไปครู่หนึ่ง พร้อมๆกับให้อภัยเขา ให้ฝึกแบบนี้เป็นประจำจนกว่าจะรู้สึกให้อภัยได้จริงๆ เมื่อคุณรู้สึกอภัยให้เขาได้แล้ว คุณจะพบว่าการให้อภัยช่วยปลดปล่อยตัวคุณให้เป็นอิสระจากความทุกข์ที่ยึดคุณไว้กับอดีต
การรับมือกับเหตุการณ์เจ็บปวดในอดีตนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากคุณจะต้องเผชิญหน้ากับบาดแผลในจิตใจของตัวเองแล้ว คุณยังต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและให้อภัยคนที่ทำร้ายคุณอีกด้วย ดังนั้นหากคุณไม่สามารถจัดการกับบาดแผลในวัยเด็กได้ด้วยตัวเอง การเข้ารับการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น สายด่วนสุขภาพจิต (เบอร์โทร : 1323) หรือ samaritans thailand (เบอร์โทร : 02-713-6791) ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยเหลือคุณได้ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้ที่มีประสบการณ์เจ็บปวดไม่ละทิ้งความกล้าที่ก้าวข้ามอดีต พร้อมทั้งหวังว่าจิตใจของผู้ที่เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจะได้รับการเยียวยาและเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง
สุพรรณนิกา โป่งมัน
ผศ.ดร.กันตพัฒน์ อนุศักดิ์เสถียร
อ้างอิง
นากาซาวา ดีเจ. (2018). เกินกว่าเจ็บปวด [Childhood disrupted: how your biography becomes your biology and how you can heal] (เอกชัย อัศวนฤนาท, แปล). กรุงเทพฯ: Oh My God. (ต้นฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 2015).
อนุรักษ์ เม่นหรุ่ม. (2558). เขียนเยียวยาชีวิตฉบับย่อ. ม.ป.พ. สืบค้นจาก https://youngawakening.org/write4life/wp-content/uploads/2016/12/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD.pdf
Joshua Schultz. (2020) Forgiveness in Therapy: Help Clients Forgive Themselves and Others. Retrieved 29 January 2021 from https://positivepsychology.com/forgiveness-in-therapy/
Hofmann, S. G., Petrocchi, N., Steinberg, J., Lin, M., Arimitsu, K., Kind, S., … & Stangier, U. (2015). Loving-kindness meditation to target affect in mood disorders: A proof-of-concept study. Evidence-based Complementary and Alternative Medicine, 2015.
Ortiz, R., & Sibinga, E. M. (2017). The role of mindfulness in reducing the adverse effects of childhood stress and trauma. Children, 4(3), 16.
Nikolas Hedberg. (n.d.). How to Heal Adverse Childhood Experiences. Retrieved 29 January 2021 from https://drhedberg.com/how-to-heal-adverse-childhood-experiences/