ใต้ร่มราชพฤกษ์:
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จัดโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านนิติบัญญัติและด้านต่างประเทศในบริบทประชาคมอาเซียน โดยได้รับเกียรติจากนายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐถาในหัวข้อ “พิษณุโลกกับบทบาทการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอาเซียน” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงความพร้อมของจังหวัดพิษณุโลก ในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียน ทั้งในด้านการศึกษา การค้า การขนส่ง และระบบสุขภาพ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันการศึกษาภายในจังหวัด สามารถเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือทางการศึกษากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมา และกัมพูชา ส่งเสริมการวิจัยและแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการที่เข้มแข็งในภูมิภาคได้
นอกจากนี้ พิษณุโลกยังมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดตัดของเส้นทางการค้าและการขนส่งที่สำคัญ ทั้งทางเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ส่งผลให้พิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและบริการไปยังประเทศอาเซียน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดยิ่งช่วยดึงดูดการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านในด้านการผลิตและการค้า ในด้านการขนส่ง พิษณุโลกมีความพร้อมทั้งทางถนน ทางรถไฟ และทางอากาศ สนามบินพิษณุโลกเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในภูมิภาค ส่งเสริมให้จังหวัดนี้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญต่อการค้าและการขนส่งของอาเซียน ขณะเดียวกันความพร้อมด้านระบบสุขภาพของพิษณุโลกสามารถรองรับผู้ป่วยในจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงในอนาคตอาจจะสามารถรองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูง สร้างความเชื่อมโยงทางด้านสุขภาพกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “การส่งเสริมงานวิจัยด้านอาเซียนศึกษาในประเทศไทย” โดยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ประกอบด้วย
• Dr.Paul Wesley Chambers
อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
• คุณอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (Online) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• คุณหรินทร์ สูตะบุตร สำนักทรัพยากรบุคคล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ดำเนินรายการโดย
คุณกันต์ มูลสาร สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีการเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับการส่งเสริมงานวิจัยด้านอาเซียนศึกษาในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ประชาคมอาเซียนของรัฐสภาและศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยศูนย์ประชาคมอาเซียนของรัฐสภามุ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย หนังสือสัญญา และความเคลื่อนไหวของประเทศสมาชิกอาเซียน
รวมถึงการปฏิบัติภารกิจของสมาชิกรัฐสภา ขณะที่ศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร เน้นงานวิจัยเชิงวิชาการในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศอาเซียน
การทำงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านกฎหมายและการวิจัยเข้าด้วยกัน ทำให้งานวิจัยมีความรอบด้านและสะท้อนถึงนโยบายในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาเซียนในเชิงลึก สนับสนุนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งยังเป็นเวทีสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศและส่งเสริมความเข้มแข็งในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา ณ ห้อง Main Conference ชั้น 1 อาคารกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (CITCOMS) มหาวิทยาลัยนเรศวร และรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting