
“เปิดมุมมองใหม่ “พุทธศิลป์เมืองสองแคว” ผ่านการเยี่ยมชมวัดเก่าแก่แห่งพิษณุโลก”
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการมรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างสู่มรดกมนุษยชาติและมรดกโลก : กรณีต้นแบบสุขนาฏกรรม “ลิเก” ในระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงลิเกในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่มีรากฐานลึกซึ้งในสังคมภาคเหนือตอนล่างของไทย โดยมุ่งเน้นการรวบรวมองค์ความรู้ การวิเคราะห์บริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับลิเก ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ระหว่างนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ผู้แสดงลิเก และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาลิเกให้ดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังมุ่งหวังให้ลิเกเป็นต้นแบบสุขนาฏกรรมที่สามารถยกระดับสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางทางวิชาการที่เชื่อมโยงองค์ความรู้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ซึ่งกิจกรรมของวันแรก (22 เมษายนยน 2568) เป็นการนำวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถด้านประวัติศาสตร์และศิลปะการแสดง ซึ่งให้เกียรติมาช่วยขับเคลื่อนโครงการของคณะสังคมศาสตร์ เยี่ยมชมโบราณสถาน โบราณวัตถุ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และวัดราชบูรณะ พร้อมรับฟังการบรรยายพิเศษหัวข้อ “พุทธศิลป์และอัตลักษณ์เมืองพิษณุโลกในมรดกทางประวัติศาสตร์” โดย อาจารย์ปวีณา บุหร่า อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงลึกในสาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดีกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ธราพงศ์ ศรีสุชาติ อดีตผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี ที่ปรึกษากรมศิลปากร, ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) และ นายวิระเดช ทองคำ ประธานสมาคมโนราบ้าน 168
ภาพกิจกรรมทั้งหมด























