
“มรดกท้องถิ่นสู่มรดกโลก: การอนุรักษ์ธรรมชาติและดนตรีมังคละเพื่อมรดกมนุษยชาติ”
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการมรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างสู่มรดกมนุษยชาติและมรดกโลก : กรณีต้นแบบสุขนาฏกรรม “ลิเก” ในระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงลิเกในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่มีรากฐานลึกซึ้งในสังคมภาคเหนือตอนล่างของไทย โดยมุ่งเน้นการรวบรวมองค์ความรู้ การวิเคราะห์บริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับลิเก ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ระหว่างนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ผู้แสดงลิเก และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาลิเกให้ดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังมุ่งหวังให้ลิเกเป็นต้นแบบสุขนาฏกรรมที่สามารถยกระดับสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางทางวิชาการที่เชื่อมโยงองค์ความรู้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
โดยกิจกรรมวันที่สอง (23 เมษายน 2568) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ดนตรี และศิลปะพื้นบ้าน ลงพื้นที่สำรวจ “มรดกทางธรรมชาติ” ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยมีคุณชัญชนา คำชา นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ และทีมงานจากสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 จังหวัดลำปาง ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งธรณีสัณฐานที่โดดเด่น เช่น รอยตีนไดโนเสาร์ ลานหินปุ่ม และลานหินแตก ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของโลกในอดีต มีคุณค่าทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์
จากนั้น คณะได้เดินทางต่อไปยังชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อรับฟังการบรรยายในหัวข้อ “ดนตรีพื้นบ้านมังคละ” โดยเรืออากาศตรีประโยชน์ ลูกพลับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องดนตรีมังคละ ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญทางวัฒนธรรม และกระบวนการผลิตเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมอย่างละเอียด พร้อมชมการแสดงรำมังคละที่แสดงเอกลักษณ์ของชุมชนอย่างงดงาม กิจกรรมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกท้องถิ่นเหล่านี้ให้ก้าวสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติต่อไป
โดยในช่วงเย็นเป็นกิจกรรมต้อนรับวิทยากรโดยจัดให้มีการแสดงลิเกจากกลุ่ม “รวมดาวลิเกเด็กตะพานหิน” ภายใต้สมาคมลิเกตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ณ โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านโดยเยาวชน ที่ไม่เพียงรักษาท่วงท่า การรำ และบทเจรจาลิเกดั้งเดิม แต่ยังปลูกฝังคุณค่าทางวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจในท้องถิ่น เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมได้รับทั้งความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การแสดงที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยต่อยอดลิเกให้มีชีวิตชีวาและร่วมสมัย เป็นพลังสำคัญในการรักษามรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต























