ใต้ร่มราชพฤกษ์:

“คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร จัดเวิร์กช็อปวางแผนเสนอ “ลิเก” ต่อยอดสู่มรดกโลก”

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการมรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างสู่มรดกมนุษยชาติและมรดกโลก : กรณีต้นแบบสุขนาฏกรรม “ลิเก” ในระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงลิเกในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่มีรากฐานลึกซึ้งในสังคมภาคเหนือตอนล่างของไทย โดยมุ่งเน้นการรวบรวมองค์ความรู้ การวิเคราะห์บริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับลิเก ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ระหว่างนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ผู้แสดงลิเก และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาลิเกให้ดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังมุ่งหวังให้ลิเกเป็นต้นแบบสุขนาฏกรรมที่สามารถยกระดับสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางทางวิชาการที่เชื่อมโยงองค์ความรู้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

โดยในวันที่สี่ของโครงการ (25 เมษายน 2568) เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ได้กรอบและแนวทางการเขียนเอกสารนำเสนอมรดกที่จับต้องไม่ได้ ที่เป็นวัฒนธรรมมนุษยชาติของภาคเหนือตอนล่าง คือ “ลิเก” และเขียนเอกสารเสนอจากการประมวลและประเมินผลจากการประชุมสัมมนา “มรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างกับการไปสู่การเป็นมรดกโลกและมรดกมนุษยชาติ”

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและมรดกวัฒนธรรม ได้แก่ อาจารย์ธราพงศ์ ศรีสุชาติ อดีตผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร และ ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ทั้งสองท่านมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การมีส่วนร่วมของวิทยากรทั้งสองท่านในกิจกรรมนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดทำเอกสารเสนอชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “ลิเก” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมของภาคเหนือตอนล่าง ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของท่านจะเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลขององค์การยูเนสโก

นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากวิทยากรจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้เข้าร่วมในการจัดเก็บ วิเคราะห์ และถ่ายทอดข้อมูลมรดกวัฒนธรรมได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลจากการสัมมนา ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ตลอดจนต่อยอดสู่การเสนอชื่อ “ลิเก” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในระดับสากลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 215 อาคารปราบไตรจักร 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพกิจกรรมทั้งหมด