ทุกวันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเพณีและพิธีกรรมหลายอย่างได้สูญหายไป เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการของคนในสังคม และไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ระบบโซตัส (Sotus/ Senior; Order; Tradition; Spirit) เป็นพิธีกรรมแบบหนึ่ง ที่ถูกสืบทอดมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนา เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศไทย หรือแม้กระทั่งบางประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปอเมริกาและเอเชีย อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา
แม้ว่าการรับน้องจะมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่ระบบ Penalism ในสมัยกลางหรือเมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว จนถึงวัฒนธรรมแบบ Fagging หรือ Hazing ของโรงเรียนกินนอนในประเทศอังกฤษ ที่เชื่อว่า นักเรียนเก่าหรือรุ่นพี่มีอำนาจในการบังคับให้นักเรียนใหม่หรือรุ่นน้องทำตัวเป็นคนรับใช้ของตนเอง และหากรุ่นน้องคนไหนขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกทำโทษ ซึ่งมีตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ ไปจนถึงการคุกคามทางเพศและเสียชีวิต
วัฒนธรรม Fagging (Fagging หมายถึง งานบ้าน) ถูกนำเข้ามาใช้ในสถาบันการศึกษาเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป โดยอิทธิพลของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป ในช่วงที่เข้าไปตั้งรกรากในอเมริกา ต่อมาการแพร่กระจายของวัฒนธรรม Fagging ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของระบบ Sotus ซึ่งถูกยึดถือและปฏิบัติกันทั่วไปในโรงเรียนกินนอนในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาใต้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ วัฒนธรรม Fagging ถูกแพร่กระจายและได้รับการขานรับเป็นอย่างดีในบรรดาประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรปและอเมริกา
ในปัจจุบัน ประเพณีการรับน้องตามแบบ Fagging ได้เสื่อมความนิยมและถูกยกเลิกไปนานกว่าทศวรรษแล้วในสถาบันการศึกษาในยุโรป แต่ประเพณีการรับน้องแบบนี้ กลับยังคงเป็นที่นิยมและแพร่หลายในประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย
วัฒนธรรมแบบ Fagging ซึ่งเพี้ยนเป็น Ragging แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยในครั้งแรกในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนกินนอนอื่นๆ อาทิ โรงเรียนวชิราวุธ และ ภปร.ราชวิทยาลัย แต่การรับน้องแบบรุนแรงหรือ “ระบบว๊าก” เกิดขึ้นครั้งแรกในโรงเรียนป่าไม้ภาคเหนือ หรือวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตมีอาจารย์บางส่วนจากสถาบันการศึกษาดังกล่าว มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่มีการรับน้องในลักษณะที่รุนแรง และเกิดเห็นดีงามจนนำวัฒนธรรมดังกล่าวกลับเข้ามาเผยแพร่ในสถาบันการศึกษาที่ตนทำงานอยู่ ต่อมา เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น และมีการรับนิสิตจากวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้เข้ามาศึกษาต่อ จึงมีการแพร่กระจาย “ระบบว๊าก” เข้าสู่สถาบันการศึกษาในรูปของระบบ Sotus
Sotus มีรากฐานมาจากความเชื่อว่า นิสิตใหม่ที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นอารยชนที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ดังนั้น หากน้องใหม่เหล่านี้ได้รับความยากลำบาก ถูกเหยียดหยามและทำให้รู้สึกกดดัน ผ่านการบีบบังคับและสั่งการโดยรุ่นพี่ ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้และสามารถปรับตัวในมหาวิทยาลัยได้ดีขึ้นเมื่อได้รับความยากลำบากในเรื่องอื่นๆ แม้ว่าความคิดความเชื่อเรื่อง “ระบบว๊าก” จะไม่เคยมีการพิสูจน์หรือศึกษาอย่างจริงจังว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประสิทธิของการปรับตัวของนิสิตใหม่ ไม่มีทฤษฎีเรียนรู้ใดๆรองรับ และเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติตลอดจนประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ความเชื่อและทำเนียมปฏิบัตินี้ ก็ถูกยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยในปัจจุบัน
คำถามสำคัญที่ต้องช่วยกันตอบในปัจจุบัน คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยมีโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใด จึงทำให้วัฒนธรรม Fagging และประเพณีการรับน้องแบบนี้ ยังคงเป็นที่นิยมและสืบสานยืนเรื่อยยาวมาจนถึงปัจจุบัน และคำถามใหม่ๆอีกมากมายที่เกิดขึ้นและต้องการคำตอบ ว่ารูปแบบวัฒนธรรมแบบใด ตลอดจนสาระสำคัญหรือทักษะชีวิตในเรื่องใดบ้างที่รุ่นพี่ควรถ่ายทอดหรือปลูกฝังให้น้องใหม่ได้เรียนรู้ขณะใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย
ปี พ.ศ. 2560 สังคมไทยกำลังเคลื่อนไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่รัฐกล่าวอ้างว่า กำลังดำเนินการปฏิรูปประเทศเพื่อให้เจริญก้าวหน้าตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังมุ่งสร้างการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา (Changing Education Paradigms) โดยการสร้างเสริมทักษะ 3R (Reading= การอ่าน, Writing=การเขียน, Arithmetic=คณิตศาสตร์) และ 4C (Critical Thinking= การคิดวิเคราะห์, Communication= การสื่อสาร, Collaboration= การร่วมมือ, Creativity=ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม) เพื่อพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชนของตน ให้มี ทักษะชีวิต (Life Skill) ได้แก่ ความยืดหยุ่นและการปรับตัว ตลอดจนการเป็นตัวของตัวเอง ทักษะสังคม (Social Skill) และทักษะข้ามวัฒนธรรม เพื่อให้มีภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
สิ่งที่พี่ๆทุกคนต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความต้องการของน้องใหม่จึงมีความสำคัญ เพราะสังคมในปัจจุบัน คงไม่สามารถสืบสานโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่มุ่งเน้นการควบคุมบงการ เหนือร่างกายและความคิด ตลอดจนกดเบียดกิจกรรมทางสังคมที่แตกต่างไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกหรือสังคมโดยรวม หากแต่เป็นสังคมที่พี่ต้องสอนน้องว่า ห้องเรียนที่สุขสบายน่านอน สนามหญ้าเขียวๆ และการตีกลองโป้งๆชึ่ง ซึ่งพี่ตั้งใจกระทำเพื่อน้องทุกๆวันนั้น ล้วนมาจากภาษีอากรของคนไทยจำนวนมาก ที่หนี้สินรุงรังจนถึงคอหอย ยากจน และใช้ชีวิตต่ำกว่าคุณค่ามาตรฐานของความเป็นมนุษย์ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ ยังได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ และเบียดขับออกไปจากกระบวนการพัฒนา เรื่องเล่าและเรื่องราวแบบนี้ต่างหาก ที่พี่ควรเล่าให้น้องฟังทุกๆวัน เพื่อให้น้องใหม่ทุกคนได้ตระหนักในโอกาสที่ดีของการเป็นอนาคตของประเทศที่น่าสงสารนี้
ยินดีต้อนรับนิสิตใหม่ทุกคนสู่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหวังเป็นที่สุดว่าเรื่องราวความจริง ของทุกชีวิตในสังคม จะถูกพี่ๆบรรจงส่งผ่านไปถึงน้องใหม่อย่างปราณีตและใส่ใจ สมกับที่เราเป็นคณะสังคมศาสตร์ คณะที่ตระหนักในความสำคัญของความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
กรกฎาคม 2560