วันนี้ (2 กรกฎาคม 2563) เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร อินทะสี รองคณบดีฝ่ายยริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.อัจริยา ชูวงศ์เลิศ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและส่งเสริมพหุวัฒนธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมพร ธีระวิริยะกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดร.จิระประภา ศรีปัตตา หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะสังคมศาสตร์ พร้อมด้วยบุคลากรคณะสังคมศาสตร์ ร่วมต้อนรับผู้แทนจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่เดินทางมาหารือเรื่องการทำความร่วมมือทางวิชาการกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 1 ชั้น 2 อาคารคณะสังคมศาสตร์ และในเวลา 11.00 น. ผู้บริหารคณะสังคมศาสตร์พร้อมด้วยผู้แทนจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เดินทางเข้าพบกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อหารือในประเด็นการเปิด AIS Playground ซึ่งเป็นแหล่งรวมดิจิทัลครีเอเตอร์สายเทคฯ รุ่นใหม่ ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์แบบครบวงจร เพื่อให้นักศึกษา, นักพัฒนา Maker และสตาร์ทอัพ ได้เข้าสัมผัสเทคโนโลยีกันจริงๆ รวมไปถึงเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีไอเดียและต้องการการสนับสนุนจาก AIS ได้เข้ามาร่วมกันพัฒนานวัตกรรม ซึ่งนำไปสู่ Innovation และ collaboration ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมและการบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และตรงใจผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดย AIS จะให้ความช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์หรือความเชี่ยวชาญของบุคลากร โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง 5G, NB–IoT, VR, API เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าใช้งานได้อยู่ในใช้งานเทคโนโลยีเสมือนอยู่ในสนามจริง โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งประกอบด้วย 1.Space for Work เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน โดยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง AIS SUPER WiFi ให้ได้ใช้งาน ไม่ว่าจะค้นคว้าหาข้อมูลหรือใช้ประชุมงาน ก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ 2.Space for Consulting พื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษาด้าน Technology, Design หรือ Business ที่นี่จะมีผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาอยู่ แถมทาง AIS แอบบอกใบ้มาด้วยว่า หากใครมีไอเดียธุรกิจเจ๋งๆ ไอเอเอสก็จสนับสนุนเต็มที่ และอาจจะได้รับการผลักดันให้กลายเป็น Partner ในอนาคตอีกด้วย 3.Space for Creators ส่วนใครที่อยากจะทดสอบหรือใช้งานนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านโครงข่าย NB–IoT ที่ Space for Creators ก็เปิดบริการให้เป็นพื้นที่พิเศษ นอกจากนั้น ยังสามารถทดสอบระบบ APIs บน AIS Digital Platform ได้อีกด้วย 4.Space for Innovators ส่วนใครที่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่อยากทดสอบใช้งานบนเครือข่าย 5G ก็สามารถเข้าไปทดลองได้ที่ Space for Innovators เพราะที่นี่มีเครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งเครือข่าย 5G เปิดไว้ให้ทดสอบความเร็ว เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร นำชมพื้นที่เรียนรู้นวัตกรรมด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแนวทางให้กับบริษัทฯ ที่จะเข้ามาทำความร่วมมือต่อไป