ใต้ร่มราชพฤกษ์:
ประวัติความเป็นมา

          ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรมีประวัติความเป็นมาที่ค่อนข้างยาวนานและทรงคุณค่าในบรรดาหน่วยงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยสามารถสรุปได้เป็น 5 ช่วงเวลา ดังนี้

  • ช่วงระยะเวลาที่ 1 กล่าวคือเมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก (มศว.พิษณุโลก) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ภาควิชารัฐศาสตร์ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นภาควิชาหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พิษณุโลก)
  • ช่วงระยะเวลาที่2เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. 2533 และปีถัดมา ได้มี “ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2534 ลงวันที่ 5 กันยายน 2534” คณะสังคมศาสตร์ได้ถูกยุบรวมกับคณะมนุษยศาสตร์ เป็นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีภาควิชารัฐศาสตร์ เป็น 1 ใน 12 ภาควิชาของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ช่วงระยะเวลาที่ 3 ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการยุบรวมภาควิชาต่างๆ ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เหลือเพียง 5 ภาควิชา ตาม “ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2539” ภาควิชารัฐศาสตร์จึงถูกลดฐานะเป็นเพียงสาขาวิชาหนึ่ง ในจำนวนห้าสาขาวิชาของภาควิชาสังคมศาสตร์
  • ช่วงระยะเวลาที่4 เมื่อสภามหาวิทยาลัยนเรศวรในการประชุมครั้งที่ 107 (3/ 2546) วันที่ 31 พฤษภาคม 2546 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะสังคมศาสตร์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในมหาวิทยาลัยเรศวร และมีการโอนสาขาวิชา 4 สาขาวิชามาสังกัดในคณะสังคมศาสตร์ จึงได้มีการจัดตั้งสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้เพิ่มเติมคำว่า “รัฐประศาสนศาสตร์” คู่กับรัฐศาสตร์ในชื่อของสาขาวิชาฯ เป็นครั้งแรก
  • ช่วงระยะเวลาที่ 5 การถือกำเนิดของภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยยกฐานะจากสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์เดิม ตามมติสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ในการประชุมครั้งที่ 149 (1/ 2553) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553 พร้อมกับภาควิชาอื่นๆ ในคณะสังคมศาสตร์อีก 3 ภาควิชา
สำหรับการพัฒนาของภาควิชารัฐศาสตร์ฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในด้านต่างๆ ดังนี้ การพัฒนาด้านบุคลากร แต่เดิมภาควิชาหรือสาขาวิชารัฐศาสตร์มีบุคลากรทางวิชาการไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีการเรียนการสอนหลักสูตรในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาของตนเอง ปูชนียบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องคือ รองศาสตราจารย์วรรณา เจียมศรีพงษ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ ท่านเป็นผู้ผลักดันให้เกิดหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2546 และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนหลักสูตร รป.ม.(นโยบายสาธารณะ) ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในขณะนั้นมีคณาจารย์ประจำสาขาวิชาฯ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์วรรณา เจียมศรีพงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรยุทธ บุษบง อาจารย์วัลลภัช สร้อยทอง อาจารย์ดาริน คงสัจวิวัฒน์ และ อาจารย์ชาญณวุฒ ไชยรักษา ในปัจจุบันภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มีคณาจารย์ประจำทั้งสิ้น 17 คน
          เนื่องจากในระยะแรกภาควิชารัฐศาสตร์ไม่ได้มีหลักสูตรของตัวเอง ดังนั้นความรับผิดชอบการเรียนการสอนจึงเป็นไปในรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ โดยร่วมผลิตบัณฑิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษา, การเปิดวิชาโท รัฐศาสตร์ให้นิสิตทุกคณะ ทุกวิชาเอกได้มีโอกาสเลือกเรียน และยังได้เปิดทุกรายวิชาในวิชาโทรัฐศาสตร์ ให้เป็นวิชาเลือกเสรี รวมถึงการรับผิดชอบการสอนรายวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายวิชาพื้นฐานวิชาชีพของทุกหลักสูตรสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
          จนกระทั่งปีการศึกษา 2546 สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.) สาขาวิชารัฐศาสตร์ เป็นปีแรก มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน 42 คน โดยเป็นการสอบผ่านระบบเอนทรานซ์ของทบวงมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งนี้ ตามข้อมูลของทบวงมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการสอบเอนทรานซ์นั้น หลักสูตรปริญญาตรีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีนักเรียนที่สมัครสอบ ได้เลือกไว้สูงสุดใน 10 อันดับแรกของประเทศ และในปีการศึกษาต่อมาคือ 2547 สาขาวิชาฯ ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) สาขาวิชานโยบายสาธารณะ เป็นปีแรก และมีนิสิตตามหลักสูตรภาคปกติ จำนวน 5 คน และนิสิตหลักสูตรภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) จำนวน 32 คน ภายหลังจากนั้น นิสิตทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและโทได้มีมากขึ้นตามลำดับ โดยสำหรับหลักสูตร รป.ม.(นโยบายสาธารณะ) ที่นอกจากจะมีหลักสูตรภาคปกติและภาคพิเศษ ณ จังหวัดพิษณุโลกแล้ว ได้มีการขยายหลักสูตรภาคพิเศษไปยังจังหวัดพิจิตรและหลักสูตรร่วมเสนาธิการทหารบก (หลักสูตร 1 ปี) อีกด้วย
          นับตั้งแต่เริ่มจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 หลักสูตรฯ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ได้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมจำนวน 523 คน ทั้งนี้ เป็นบัณฑิตหลักสูตร ร.บ.(รัฐศาสตร์) 3 รุ่น จำนวน 162 คน และ มหาบัณฑิต หลักสูตร รป.ม. ทุกหลักสูตร 5 รุ่น จำนวน 361 คน โดยแบ่งออกเป็นหลักสูตร แผน ก (ภาคปกติ) 7 คน, หลักสูตร แผน ข ภาคพิเศษจังหวัดพิษณุโลก 196 คน, ภาคพิเศษจังหวัดพิจิตร 91 คน และหลักสูตร่วมเสนาธิการทหารบก 67 คน โดยผลผลิตของภาควิชาฯ ได้กระจายออกไปทำงานในภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทเอกชนต่างๆ การพัฒนาด้านการวิจัยและผลงานทางวิชาการ คณาจารย์ประจำภาควิชาฯ ได้ผลิตผลงานวิจัยและผลงานวิชาการออกมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับงานวิจัยนั้นก็ได้รับงบสนับสนุนในการดำเนินงานจากทั้งภายในเช่น คณะสังคมศาสตร์ และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นต้น

          สำหรับผลงานทางวิชาการนั้น คณาจารย์ประจำภาควิชาได้ผลิตหนังสือ ตำรา และบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในประชุมวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะงานการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมหาวิทยาลัยเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีคณาจารย์ประจำของภาควิชาฯ ได้ร่วมนำเสนอบทความอย่างน้อย 4-6 คนเป็นประจำทุกปี การพัฒนาด้านงานบริการวิชาการ ภาควิชาฯ ได้จัดให้มีงานหรือโครงการบริการวิชาการสู่สังคมอย่างต่อเนื่องในลักษณะของการจัดร่วมกันระหว่างคณาจารย์และนิสิต รวมทั้งระหว่างภาควิชาฯ กับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ กลุ่มนิสิตจุฬาฯ-ชนบท ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยใช้งบประมาณในการจัดงานหรือโครงการทั้งจากงบประมาณรายได้ของภาควิชาฯ และงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาเป็นภาคีร่วมในการจัดงานหรือโครงการต่างๆ เป็นต้น

          โดยโครงการที่โดดเด่นและมีการจัดมาอย่างต่อเนื่องของภาควิชาฯ เช่น โครงการวันรัฐธรรมนูญ เป็นกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของรัฐธรรมนูญและการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของกลุ่มโรงเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคณาจารย์โรงเรียนต่างๆ ส่งตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการเป็นจำนวนมาก โครงการบรรยายพิเศษโดยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิตามโอกาสและวาระต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ให้แก่นิสิตรัฐศาสตร์และนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ การพัฒนางานกิจกรรมของนิสิต ภาควิชารัฐศาสตร์ฯ ได้ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมพัฒนานิสิต ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้นิสิตมีการฝึกฝนตนเองและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม กิจกรรมที่ภาควิชาฯ ดำเนินอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการทำบุญเดือนสิงห์, โครงการรัฐศาสตร์อาสาบำเพ็ญประโยชน์, โครงการสิงห์สัญจร, โครงการศึกษาดูงานต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพานิสิตไปร่วมงานการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ทางด้านวิชาการให้กับนิสิตอย่างดียิ่ง

สัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์มีความหมาย ดังต่อไปนี้
สิงห์: สัญลักษณ์ของนักปกครอง มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว คือมีความเป็นผู้นำและมีความเด็ดขาดภายใต้ความสุขุมรอบคอบ
โล่โบราณ:  สัญลักษณ์ที่นำมาจากตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรอันมีสมเด็จเจ้าพระยาไชยานุภาพประทับอยู่กึ่งกลาง สื่อถึงสาขาวิชารัฐศาสตร์ฯ อยู่ภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยนเรศวร

สีของตราสัญลักษณ์มีความหมาย ดังต่อไปนี้

  • สีม่วง คือ สีประจำวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารีอีกทั้งยังเป็นสีประจำจังหวัดพิษณุโลก อันเกิดจากการผสมผสานของสองสี คือ สีแดง คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สีน้ำเงิน คือ ความยิ่งใหญ่ดั่งกษัตริย์สมกับความเป็น นักปกครอง ฉะนั้น สีม่วงจึงมีความหมายโดยรวม คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและความยิ่งใหญ่สมกับความเป็นนักปกครองหรือนักรัฐศาสตร์
  • สีเทา คือ สีของสมอง ซึ่งเปรียบเสมือนปัญญาและความรู้
  • สีแสด เกิดจากการผสมผสานของสองสี คือ สีแดง คือ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เปรียบดังสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สีเหลือง คือ ความมีคุณธรรม เปรียบดังสมเด็จพระพุทธชินราช
  • สีฟ้า คือ สีของคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเปรียบเสมือนท้องฟ้าที่ครอบคลุมอยู่ทั่วไป เหมือนดังสังคมศาสตร์ที่เป็นศาสตร์ที่ประกอบด้วย สหวิทยาการต่างๆ หลายแขนง รวมถึงรัฐศาสตร์ด้วย

สรุป ตราสัญลักษณ์ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ฯ มีความหมายโดยรวมคือ สาขาวิชารัฐศาสตร์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของคณะสังคมศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนเรศวร สิงห์ม่วงจึงต้องมีความสง่างาม กล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีความเป็นผู้นำ สุขุมรอบคอบ ตลอดจนเป็นผู้ใฝ่รู้และมีคุณธรรม อันเป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของนิสิตรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์
ปรัชญา: สร้างสรรค์การเมืองและการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล
ปณิธาน: มุ่งมั่นสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถด้านการเมืองการปกครอง การบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชนตามหลักธรรมาภิบาล และประสานสามัคคี มีความเป็นธรรม อำนวยประโยชน์แก่ปวงประชา และพัฒนาประชาธิปไตยในบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก
วิสัยทัศน์: สร้างคนให้มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ทักษะวิชาชีพในระดับสากล มีความเป็นเลิศด้านการวิจัย และมีจิตสำนึกเพื่อสังคม
พันธกิจ: สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นหน่วยงานวิชาการที่ดำเนินงานการเรียนการสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ อันนำมาซึ่งการสร้างคุณค่าแห่งสังคมในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ
ค่านิยมหลัก: ลูกนเรศวร ควรค่าสิงห์ อิงคุณธรรม นำประชาธิปไตย
เป้าประสงค์: เจตจำนงสิงห์นเรศวร์เพื่อประเทศ เพื่อประชา
วัตถุประสงค์
  • เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถเป็นผู้นำ มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบพร้อมที่จะรับใช้สังคม ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
  • เพื่อศึกษาและดำเนินการวิจัยด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีคุณภาพสำหรับใช้ประโยชน์ด้านวิชาการโดยนำผลการศึกษาวิจัยและงานด้านวิชาการเผยแพร่สู่สังคมในรูปแบบต่างๆ
  • เพื่อให้บริการทางด้านการเมืองการปกครอง ด้านการบริหารรัฐกิจ ด้านการบริการวิชาการและการฝึกอบรมให้กับชุมชน ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ
ประเด็นยุทธศาสตร์
  • มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ภาษาต่างประเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล มีทักษะวิชาชีพ รอบรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ท้องถิ่น
  • เน้นความเป็นเลิศด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์
  • สร้างเสริมเครือข่ายที่เข้มแข็งทางวิชาการ งานวิจัย และงานบริการทางสังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
  • จรรโลงและสืบสาน ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก
  • มุ่งพัฒนาระบบกลไกการบริหารองค์กรให้มีความคล่องตัว ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดหลักธรรมาภิบาล สร้างความสามัคคี โปร่งใส (Transparency) รับผิดชอบ (Accountability)
  • พัฒนาระบบความสัมพันธ์กับศิษย์เก่าให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถ ในการนำศักยภาพของศิษย์เก่ามาใช้เพื่อการพัฒนานิสิตและองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด