ใต้ร่มราชพฤกษ์:
ประวัติความเป็นมา
          ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้เปิดทำการเรียนการสอนพร้อมกับการจัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก โดยสถานะของวิชาประวัติศาสตร์ในเวลานั้นเป็นเพียงวิชาโท และเริ่มเปิดรับวิชาเอกประวัติศาสตร์ ในหลักสูตรด้านการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2512
          ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2516 ส่งผลประการสำคัญต่อฐานะของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ส่งผลให้เกิดการยกฐานะของสถาบันขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมทั้งวิทยาลัยการศึกษาพิษณุโลกก็ได้ถูกยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยย้ายภาควิชาประวัติศาสตร์มาอยู่ในคณะสังคมศาสตร์ ต่อมาใน พ.ศ.2523 ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ขึ้นเป็นครั้งแรก รับนิสิตเข้ามาเรียน 4 ปี ได้วุฒิ ศศ.บ. (ประวัติศาสตร์)
          ใน พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร นับแต่เป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร มีการขยายตัวเกิดขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะการย้ายไปตั้ง ณ. ที่แห่งใหม่ ณ บริเวณหนองอ้อ สถานะประวัติศาสตร์ในฐานะองค์กรก็มีการปรับเปลี่ยนจากการเป็นภาควิชาในคณะสังคมศาสตร์ กลายเป็นสาขาวิชาหนึ่งของภาคสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ถูกนำมารวมกันเป็นคณะเดียวกัน พร้อมทั้งได้จัดทำหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวขึ้นเมื่อ พ.ศ.2535 และจากนั้นใน พ.ศ.2541 ยังได้มีการเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท)
Play Video

พ.ศ.2546 มหาวิทยาลัยนเรศวรมีนโยบายแยกคณะในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เดิมออกเป็น 4 คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้เลือกไปอยู่กับคณะสังคมศาสตร์ พร้อมทั้งได้พัฒนาหลักสูตรตามนโยบายของมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรคู่ขนาน ใน พ.ศ.2548 หลักสูตรประวัติศาสตร์ได้จัดแผนการเรียนร่วมกับหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยว นิสิตใช้เวลาเรียน 5 ปี โดยได้รับ 2 ปริญญา คือ ศศ.บ. (ประวัติศาสตร์) และ บธ.บ. (การท่องเที่ยว)

ภาควิชาประวัติศาสตร์มุ่งเน้นพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษา และการวิจัย เพื่อพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ได้เร่งพัฒนาหน่วยวิจัยภายในภาควิชาฯ พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโท และ เอก ที่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรทางภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2555 ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยเปิดดำเนินการรับนักศึกษาบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ ในปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป อันเป็นการรองรับความต้องการในการศึกษาและวิจัยเพื่อการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย

สัญลักษณ์
ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์

ประวัติศาสตร์

          คือ ศาสตร์แห่งการแสวงหาและตรวจสอบความจริงภายใต้เงื่อนไขของเวลาบนพื้นฐานของการวิพากษ์หลักฐาน ประวัติศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่สอนให้รู้รอบและรู้จริง

ปณิธาน

          คือ สร้างคนทีมีคุณภาพทางวิชาการ มีคุณธรรม และจริยธรรม

วิสัยทัศน์

          คือ ศูนย์กลางของความรู้ทางประวัติศาสตร์ พร้อมประยุกต์ความรู้สู่สากล
แผนยุทธศาสตร์
  1. มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ เชี่ยวชาญด้านการวิจัย รอบรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ท้องถิ่น ภาษาต่างประเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล
  2. เน้นความเป็นเลิศด้านการวิจัยทางประวัติศาสตร์
  3. สร้างเสริมเครือข่ายที่เข้มแข็งทางวิชาการ งานวิจัย และงานบริการทางสังคม ทั้งในและต่างประเทศ
  4. จรรโลงและสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก
  5. มุ่งพัฒนาระบบกลไกการบริหารองค์การให้มีความคล่องตัว ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดหลักธรรมาภิบาลสร้างความสามัคคีโปร่งใส (Transparency) รับผิดชอบ (Accountability)
  6. พัฒนาระบบความสัมพันธ์ กับศิษย์เก่าให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการนำศักยภาพของศิษย์เก่ามาใช้เพื่อการพัฒนานิสิตและองค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์
  1. มุ่งผลิตและพัฒนาศักยภาพบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีทักษะในด้านการวิจัยทางประวัติศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  2. พัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมอันจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยสอดคล้องความต้องการของท้องถิ่น และสังคม โดยส่งเสริมให้บุคลากร นิสิตได้ผลิตงานวิจัยที่มีคุภาพ เผยแพร่ในเวทีวิชาการ ตีพิมพ์ในวารสาร และ/ หรือสิ่งพิมพ์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งในและต่างประเทศ
  3. ส่งเสริม สนับสนุนระบบเครือข่ายทางวิชาการ งานวิจัย และ บริการวิชาการสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและสังคม
  4. ส่งเสริม สนับสนุน ฟื้นฟู อนุรักษ์ เผยแพร่ ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ
  5. มุ่งพัฒนาองค์การ ด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล มีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
  6. ส่งเสริม สนับสนุนระบบความสัมพันธ์ศิษย์เก่า ให้เข้มแข็งและยั่งยืน